สินทรัพย์ที่ต้องนำมาคำนวณซะกาต(Zakat assets) ตอนที่ 3 ทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง
สินทรัพย์ที่ต้องนำมาคำนวณซะกาต(Zakat assets)
ตอนที่ 3 ทองรูปพรรณ ทองคำแท่ง หรือทองคำในรูปแบบอื่น
การคำนวณซะกาต ทองรูปพรรณ
หากทองรูปพรรณนั้นเป็นของผู้หญิงและมีการใช้สอยเป็นเครื่องประดับ กรณีนี้นักวิชาการมีความเห็นต่างกัน อยู่สอง ทัศนะคือ
ทัศนะแรก มีความเห็นว่าจำเป็นต้องออกซะกาตตามเงื่อนไขที่ศาสนากำหนดไว้ คือ มีกรรมสิทธิครอบครองโดยสมบูรณ์ถึงพิกัดอัตรา(นิศอบ)และครบรอบปี และตีราคาเป็นเงินโดยคิดจากราคาตลาด(ราคาที่สามารถนำไปขายได้ในปัจจุบัน)
ทัศนะที่สอง ถือว่าไม่วาญิบต้องออกซะกาตแต่อย่างใดถึงแม้ว่าจะมีมูลค่าเกินนิศอบ ในกรณีที่มีการใช้สอยเป็นเครื่องประดับอยู่เป็นประจำ ไม่ได้เก็บสะสมเอาไว้เพื่อทำกำไร และไม่ได้มีมากเกินความจำเป็น ทัศนะของฝ่ายที่สองนี้มีน้ำหนักและเป็นทัศนะของมัซฮับอัช-ชาฟีอียฺ
หากมีจำนวนมากเกินความจำเป็นและมากกว่าประเพณีนิยมในสังคม เช่น มีทองรูปพรรณอยู่ 100 บาท จะต้องคิดทองรูปพรรณที่มากกว่าประเพณีนิยมในสังคมมาคิดซะกาต เช่น หากในสังคมมีการถือครองทองคำรูปพรรณเครื่องประดับกันอยู่ในระดับ 20 บาท(การประเมินอาจจะค่อนข้างยาก และเปลี่ยนไปตามกาลเวลา อาจจะต้องสังเกตุเวลาออกงานกิญบุญต่างๆ) ส่วนเกินทองคำรูปพรรณ 80 บาท จะต้องนำมาคำนวณซะกาต เป็นต้น
ทองรูปพรรณหากผู้ชายเเป็นเจ้าของตามหลักศาสนาบัญญัติห้ามผู้ชายสวมใส่เครื่องประดับจำพวกทองรูปพรรณ ดังนั้นผู้ชายไม่สามารถนำมาใช้สอยได้ เมื่อมีจำนวนถึงอัตราพิกัด(นิศอบ) ก็ถือว่าวาญิบจำเป็นต้องออกซะกาตเมื่อครอบครองครบรอบปีอิสลาม
การคำนวณซะกาต ทองคำแท่ง
ทองคำแท่ง หรือทองคำในรูปแบบอื่น เช่นเหรียญทองคำ ไม่ได้เข้าเงื่อนไข ที่จะสามารถนำมาใช้สอยเป็นเครื่องประดับได้ และเป็นทรัพย์ในลักษณะของการลงทุน ดังนั้นต้องนำมาเป็นสินทรัพย์ที่จะต้องคำนวณซะกาต คิดจากราคาตลาด(ราคาที่สามารถนำไปขายได้ในปัจจุบัน)
จากคำสั่งของท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า
“เมื่อท่านครอบครอง (โลหะเงิน) จำนวน 200 ดิรฺฮัม และครบรอบปี ในจำนวน (โลหะเงิน) นั้น จะต้องจ่าย (ซะกาต) 5 ดิรฺฮัม, และไม่ต้องจ่ายสิ่งใด (หมายถึงไม่ต้องจ่ายซะกาตทองคำ) จนกว่าท่านจะครอบครองทองคำจำนวน 20 ดีนารฺ ซึ่งหากท่านครอบครองทองคำ 20 ดีนารฺ พร้อมกับครบรอบปี เช่นนี้จะต้องจ่าย (ซะกาต) ครึ่งดีนารฺ และหากมีจำนวนมากกว่านั้นก็ให้คำนวณตามจำนวน (ที่เพิ่ม) นั้น” (บันทึกหะดิษโดยอิมามอบูดาวูด เลขที่ 1575 หะดิษเศาะเฮียะฮฺ)
วัลลอฮุอะลัม เรียบเรียงโดย Muhammad Azmii Mahamad
หมายเหตุ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่บทความด้วยการอ้างอิงถึง
http://www.การเงินอิสลาม.com หรือ http://www.islamicfinancethai.com
หมายเหตุ อ้างอิงคำตอบบางส่วนจากเวบ อาจารย์อาลี เสือสมิง