อิสลามห้ามระบบประกันหรือไม่ ?

 

เนื่องจากการประกันภัยหรือประกันชีวิตได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในเศรษฐกิจปัจจุบัน ศาสนาอิสลามเห็นถึงความสำคัญของการมีหลักประกันในชีวิตของมนุษย์เช่นเดียวกับสังคมและศาสนาอื่นๆการที่อิสลามไม่เห็นด้วยกับระบบการประกันสากล(Conventional Insurance) เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องฮารอม ซึ่งอ่านได้จาก หัวข้อ

ทำไมอิสลามถึงห้ามใช้ธุรกิจประกันทั่วไป ?

แต่ไม่ได้หมายความว่าศาสนาอิสลามต่อต้านระบบประกันเพียงแต่ศาสนาอิสลามไม่เห็นด้วยกับรูปแบบและวิธีการซึ่งขัดกับหลักศาสนาอิสลามหรือหลักชะรีอะห์ถ้าหากสามารถใช้รูปแบบและวิธีการที่ไม่ขัดกับหลักชะรีอะห์ ศาสนาอิสลามนั้นส่งเสริมให้มีการบรรเทาความเสี่ยงอีกด้วย

ระบบประกันในอิสลามควรมีพื้นฐานแห่งการร่วมมือร่วมใจกันในสังคม จากหลักฐานในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานความว่า

“ ท่านทั้งหลายจงร่วมมือกันบนความดีและความยำเกรง ” ซูเราะห์ที่ 5 อายะห์ที่ 2

นอกจากนี้ท่าน ( ซ . ล .) ได้มีพระวจนะในเรื่องของการช่วยเหลือในเรื่องของความทุกข์ยากความว่า

“ จากท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ จากท่านศาสดา ( ซ . ล .) ได้กล่าวไว้ว่า บุคคลใดที่ได้ทำการปลดเปลื้องภาระหรือความทุกข์ยากในการดำรงชีวิตของผู้ศรัทราในโลกนี้ พระองค์อัลลอฮ์ จะทรงปลดเปลื้องความทุกข์ของเขาในโลกหน้าและบุคคลใดที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ พระองค์ก็จะทรงบรรเทาความทุกข์ยากของเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ” รายงานโดย มุสลิม

ท่านศาสดามูฮัมหมัด ( ซ . ล .) ได้ให้คำสอนว่า เราควรจะเตรียมพร้อมที่จะเผชิญกับผลกระทบจากการสูญเสีย หรือป้องกันก่อนถึงจะค่อยที่จะทำการมอบหมายการงานหรือชะตาชีวิตของเราให้เป็นไปตามพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าหรือตะวักกัล(Tawakal)

ท่านศาสดามูฮัมหมัด ( ซ . ล .)มีพระวจนะซึ่งมีใจความว่า

“ จากท่านอนัส บุตรของ มาลิก ( ร . ด .) กล่าวว่า : ท่านศาสดามูฮัมหมัด ( ซ . ล .)ได้กล่าวแก่ชาวอาหรับเบดูอินที่ไม่ได้ล่ามอูฐของเขา แต่ได้มอบหมายต่อพระองค์อัลลอฮ์ ว่า จงล่ามอูฐก่อนแล้วจึงค่อยมอบหมายต่อพระองค์ ” รายงานโดย ติรมีซี

ดังนั้นการทำประกันในรูปแบบของอิสลามหรือ ตะกาฟูลนั้นสามารถทำได้โดยอาศัยหลักการช่วยเหลือหรือตะบัรรุอ(Tabarru) ซึ่งได้รับการฟัตวาจาก  Organisation of the Islamic Conference (OIC) Islamic Fiqh Academy ประเทศซาอุดิอารเบีย ว่าเป็นไปตามหลักชะรีอะห์ รวมถึง คณะกรรมการฟัตาวาในหลายๆประเทศมุสลิมก็ได้ให้การยอมรับในเรื่องของตะกาฟุลตามหลักฐานที่กล่าวมาข้างต้น โดยจะมีรูปแบบและโครงสร้างแตกต่างจากการประกับแบบสากล(Conventional Insurance)

 

REF : 

Khan, Dr. Muhamad Muhsin, The Translation of the Meanings of Sahih al-Bukhari, Kazi Publications, Lahore , Pakistan , 1979, p. 34.
Sahih Muslim, Kitab al-Birr, p. 59
Sunan al-Tirmizi, Vol. 4, Cagri Yayinlari Istanbul, 1981 in Kitab al- Sifatul Qiyamah wa al- Rakaik al- Wara, Bab 60, No. 2517, p. 668.

3 comments

  • แล้วตกลงว่าทำได้หรือไม่คะ เพราะมีคนให้ความเห็นที่ขัดแย้งกันว่าถึงแม้จะเป็นระบบตกาฟุล ก็ทำไม่ได้ งงคะ

    • ตะกาฟูลทำได้แน่นอนครับ
      บางคนที่ว่าทำไม่ได้ผมว่า เนื่องมาจากไม่รู้ข้อมูลมากกว่า แล้วชอบสรุปเอาตามความรู้สึกหรือตามความไม่รู้ มากกว่าขอ้เท็จจริง โดยเฉพาะคนที่ไม่ค่อยมีความเชี่ยวชาญ เรื่องธุรกิจและเรื่องการเงิน เรื่องตะกาฟูลนั้นได้รับการยอมรับทั้งในตะวันออกกลางและทั่วโลกครับว่าทำได้ คนที่บอกว่าไม่ได้นี่ต้องชี้แจงมาว่าไม่ได้ตรงไหนครับ บางทีเค้าไม่รู้จริงในเรื่องนี้ แต่คิดไปเองแล้วคลุมเคลือหรือ ซุปฮาต หรือเลี่ยงบาลีอะไรก็แล้วแต่ ทุกอย่างต้องศึกษาข้อมูลและข้อเท็จจริงก่อนครับ ผมไปเจอคำชี้แจงของ อ.ยาซีน เอสเอ็ม มูตู นายกสมาคมนักธุรกิจอุตสาหกรรมไทย-มุสลิม ชี้แจงไว้ได้ดีครับ

      การที่จะตอบว่าประกันชีวิตแบบอิสลามหรือ ตะกาฟูลเป็นฮาลาล (สิ่งที่อนุญาตให้กระทำได้) หรือหะรอม (สิ่งที่ไม่อนุญาตให้กระทำ) นั้น ตามหลักการแล้วตอบไม่ได้ เพราะว่าหลังจากที่อัลกุรอานลงมาแล้วเป็นอัลฟุกอน แยกแยะความถูกและความผิดออกจากกันอย่างชัดเจนแล้ว จึงไม่มีใครนอกจากอัลเลาะห์ และรอซูลฮ์ (ศาสดา) ที่จะพูดได้ว่าสิ่งไหนเป็นฮาลาลหรือหะรอม เพราะว่าสิ่งที่เป็นฮาลาลหรือหะรอมนั้นชัดเจนแล้วตามหลักของศาสนาอิสลาม คำว่า “ประกันชีวิต” ไม่มีในอัลกุรอาน ไม่มีในซุนนะ (แบบอย่างของศาสดา) ท่านนะบีไม่เคยพูด ท่านซอหะบะฮ์ ท่านตาบีอิด ตาบีอีน ก็ไม่เคยเขียนเอาไว้ จึงไม่ใช่หน้าที่ของผู้ใดจะมากล่าวอ้างว่าสิ่งนั้นเป็นฮาลาลหรือหะรอม นอกจากจะเอาสิ่งที่ชัดเจนแล้วมากล่าวกัน เช่น ในประกันชีวิตมีดอกเบี้ยร่วมด้วยหรือไม่ ? มีการเอารัดเอาเปรียบกันหรือไม่ ? มีการพนันในนั้นหรือไม่ ? มีความไว้วางใจหรือไม่ไว้วางใจในอัลเลาะห์หรือไม่ ? เป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันหรือไม่ ? ถ้าเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันแล้วก็ไม่มีใครบอกได้ว่าเป็นหะรอม เพราะฉะนั้นเมื่ออัลเลาะห์ได้กำหนดไว้เป็นสิ่งชัดเจนแล้ว ก็จำเป็นต้องนำสิ่งที่กำหนดไว้ชัดเจนแล้วมาพูดกัน ผู้ใดก็ตามที่กล่าวอ้างในสิ่งที่อัลเลาะห์ไม่ได้กำหนดไว้ย่อมถือได้ว่าเป็นการกล่าวอ้างที่ไม่เป็นธรรม เพราะในอัลกุรอานมีบัญญัติไว้ว่า ” อย่าพูดด้วยความเท็จโดยให้ลิ้นของเจ้าพาไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งฮาลาล เป็นหะรอม โดยอ้างพระเจ้า เพราะความเท็จในการอ้างพระเจ้านั้นทำให้ผู้พูดไม่ได้รับความจำเริญ” ซูเราะห์ที่ 16 อายะห์ที่ 116 ดังนั้น การกล่าวอ้างว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งฮาลาลหรือสิ่งหะรอมโดยอ้างชื่อพระเจ้าแล้ว เป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักอัลกุรอานทั้งสิ้น ถ้าจะพูดว่าสิ่งใดเป็นสิ่งอนุมัติหรือไม่อนุมัติก็ต้องนำเอาสิ่งที่ชัดเจนแล้วมากล่าวกัน

  • ซอรฟวัน

    แล้วประกันชีวิตกับ AIA. ได้มั้ยครับ

Leave a comment