Maisir การพนันข้อห้ามการเงินการลงทุนอิสลาม

Maisir การพนันข้อห้ามการเงินการลงทุนอิสลาม

การพนันเรียกในภาษาอาหรับว่า อัล-กิม๊ารฺ (اَلْقِمَارُ) หรือ อัล-มัยซิรฺ (اَلْمَيْسِرُ) หมายถึง การเล่น เอาเงินหรือสิ่งอื่นด้วยการเสี่ยงโชคหรือฝีมือ(Game of Chance) โดยการทำนายหรือคาดเดาผลที่เกิดขึ้นในอนาคต การพนันอาจแบ่งได้หลายอย่าง เช่น การพนันในการแข่งขัน ตัวอย่างเช่น เกมไพ่ เกมลูกเต๋า การพนันโดยการทำนายผลที่คาดว่าเกิดขึ้นในอนาคตเช่น การแทงบอล การเล่นหวย การแทงมวย การแทงม้า การเลี่ยงโชค ต่างๆ ที่หลักชะรีอะฮ์ห้ามไว้

ศาสนาอิสลามห้ามการพนันทุกชนิด และถือว่าเป็นบาปใหญ่ชนิดหนึ่ง ผู้ที่เล่นการพนันจะมีความหมกมุ่นไม่ทำมาหากิน ทำให้หมดเนื้อหมดตัวแล้ว หรือทำให้เสียทรัพย์โดยเปล่าประโยชน์ นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดปัญหาในสังคมอีกด้วย บทบัญญัติเกี่ยวกับการพนัน อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงบัญญัติห้ามการพนันในอัลกุรอาน ดังนี้

ความว่า : โอ้ บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ! แท้ จริงแล้วสุรา การพนัน แท่นบูชายัญ และการเสี่ยงติ้วนั้นเป็นสิ่งโสมมที่เกิดจากการกระทำของชัยฏอน ดังนั้น พวกเจ้าจงหลีกเลี่ยงมันเสีย เผื่อว่าพวกเจ้าจะได้รับความสำเร็จ (อัล-มาอิดะฮฺ : 90)
ความว่า : ที่จริงชัยฏอนนั้นเพียงต้องการที่จะให้เกิดการเป็นศัตรูกันและการเกลียดชัง กันระหว่างพวกเจ้าในสุราและการพนัน เท่านั้น และมันจะหันเหพวกเจ้าออกจากการรำลึกถึงอัลลอฮ์ และการละหมาดแล้วพวกเจ้าจะยุติไหม? (อัลมาอิดะฮ  : 91)

ความว่า : พวกเขาจะถามเจ้า เกี่ยวกับน้ำเมา และการพนัน จงกล่าวเถิดว่า ในทั้งสองนั้นมีโทษมากและมีคุณหลายอย่างแก่มนุษย์ แต่โทษของมันทั้งสองนั้นมากกว่าคุณของมัน (อัลบะเกาะฮเราะฮ: 2)
และมีรายงานหะดิษ ดังนี้

รายงานจากอบีมูซา อัลอัชอะรีย์ว่า แท้จริงนบี ศอ็ลลัลลอฮุอะลัยฮิวะสัลลัม กล่าวว่า
“ผู้ใดเล่นลูกเต๋า แน่นอนเขาได้ฝ่าฝืนอัลลอฮและรอซูลของพระองค์” บันทึกโดย อบูดาวูด หะดิษหมายเลข 4938 และอิบนุมายะฮ หะดิษหมายเลข 3762
การพนันสำหรับมุสลิมเป็นสิ่งที่ต้องห้าม และนำพาไปสู่นรก ท่านรอซูล (ซ.ล.)ได้กล่าวว่า “เนื้อทุกก้อนที่มันงอกเงยออกมา จากของที่ฮาราม ดังนั้นนรกคือสิ่งที่เหมาะสมยิ่งกับมัน”  รายงานโดย ติรมีซีย์

ดังนั้นในเรื่องของการเงินอิสลาม ธนาคารอิสลามและการลงทุนแบบอิสลาม ก็ถือเป็นข้อห้ามเช่นเดียวกันในการที่ห้ามทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการพนัน

 การธนาคารอิสลามการพนัน(Maisir)

1.ห้ามธนาคารอิสลามรับเงินฝากที่ได้จากการพนัน บริษัทที่มีรายได้หลักจากการพนัน หรือบริษัทที่มีรายได้จากการผลิตเครื่องเสี่ยงโชค หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีรายได้จากการพนัน เช่น กองสลากกินแบ่งรัฐบาล

2.ห้ามธนาคารอิสลามให้สินเชื่อแก่บริษัทที่มีรายได้หลักจากการพนัน หรือบริษัทที่มีรายได้จากการผลิตเครื่องเสี่ยงโชค หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีรายได้จากการพนัน เช่น กองสลากกินแบ่งรัฐบาล

3.ห้ามธนาคารอิสลามค้ำประกันแก่บริษัทที่มีรายได้หลักจากการพนัน หรือบริษัทที่มีรายได้จากการผลิตเครื่องเสี่ยงโชค หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือมีรายได้จากการพนัน เช่น กองสลากกินแบ่งรัฐบาล

การลงทุนแบบอิสลามกับการพนัน(Maisir)

1.ห้ามลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพนัน(Maisir)ดังนั้นอิสลามจึงห้ามการลงทุนที่เข้าข่ายการพนัน เช่น การเข้าซื้อหุ้นโดยขาดการวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการ (Fundamental Analysis) หรือการวิเคราะห์ด้านเทคนิด (Technical analysis) เป็นการลงทุนแบบปราศจากการวิเคราะห์และความรู้ ซึ่งเป็นการลงทุนแบบความเสี่ยงสูง (High risk) เรียกว่าเหมือนการเสี่ยงดวงออกหัวออกก้อย เช่นเดียวกับการพนัน รวมถึงห้ามซื้อหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพนัน หรือกองทุนที่ถือหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพนัน เช่น บริษัทลอตเตอรี่ออนไลน์ บริษัทที่ให้บริการเครื่องเล่นเสี่ยงโชค เป็นต้น

2.ห้ามการเทรดหรือการซื้อขาย TFEX หรือ อนุพันธ์ PUT และ CALL ของหุ้นต่างๆ โดยไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการลดความเสี่ยงในการถือหุ้นสามัญเพื่อการลงทุน (Hedging) แต่เป็นการเก็งกำไร จากการเทรค TFEX และอนุพันธ์ PUT และ CALL ปราศจากสินทรัพท์ที่แท้จริงรองรับ (Underlying Assets) ซึ่งต่างจากการซื้อขายหุ้นสามัญ ถือเป็นการพนันรูปแบบหนึ่งที่ใช้เป็นการแทงขึ้นหรือแทงลงในตลาดหลักทรัพย์ฯ

การประกันภัยกับการพนัน(Maisir)

การพนัน (Maisir) ในสัญญาประกัน ตามทัศนะของนักวิชาการอิสลามมีความเห็นว่า การประกันภัยสากลมีองค์ประกอบของการพนันหรือเกมแห่งโอกาสในการเอาหลักประกันนั้นขึ้นอยู่กับโอกาส หรือ ความน่าจะเป็น ถือได้ว่าเป็นธุรกิจการพนัน ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ ดังนั้นมุสลิมจึงต้องเลือกใช้บริการตะกาฟูลซึ่งเป็นไปตามหลักของศาสนาอิสลาม

การพนันถือเป็นข้อห้ามหนึ่งในอิสลาม เป็นบาปใหญ่ที่มุสลิมทุกคนต้องไม่เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นชีวิตประจำวันทั่วไป หรือในเรื่องการทำธุรกิจหรือการเงินต่างๆ ทรัพย์ที่ได้มาจากการพนันนั้นก็ไม่มีบารอกัต(สิริมงคล) เนื่องจากเป็นการได้ทรัพย์มาด้วยหนทางมิชอบตามหลักศาสนาอิสลาม ไม่สามารถที่จะนำไปจ่ายซะกาตหรือให้ซอดาเกาะห์เพื่อหวังความเมตตาและผลบุญจากพระผู้เป็นเจ้าได้ แต่จะต้องนำทรัพย์นั้นไปบริจาคเป็นสาธารณะกุศลและไม่หวังในผลบุญ

Leave a comment