Gharar ความไม่โปรงใส ข้อห้ามในการเงินอิสลาม

 

เรื่องฆอรอรฺ (Gharar) หรือ คือ  ความไม่โปรงใส ความคลุมเครือ Gharar ถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักชะรีอะฮ์ในการดำเนินธุรกรรม โดยระบุไว้ในอัลกรุอาน ว่า

“และอย่าให้หัวหน้าพวกล่อลวง (ชัยฎอน) มาหลอกลวงพวกเจ้า เกี่ยวกับอัลลอฮ์ (ซ.บ.)เป็นอันขาด”  (ลุกมาน 33)

และมีรายงานหะดีษจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์       ความว่า “ท่านรอซูรุลลอฮ์ได้ห้ามการค้าขายที่ไม่มีความแน่นอน ไม่โปรงใส” (บันทึกโดยติรมิซีย์)

 

ฆอรอรฺ (Gharar) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด

  1. Minor Gharar (غرر يسير Gharar Yasir) คือ ความไม่แน่นอนเล็กน้อย ซึ่งเป็น

ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ตามหลักชะรีอะฮ์ และมีการชดเชยหรือการปิดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง เช่น

1.1 การซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต โดยที่ไม่เห็นสินค้ากับบริษัท หรือบุคคลที่สามารถติดตามและรับประกันสินค้าหากสินค้ามีการชำรุดหรือบกพร่อง สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ปกติได้ หากไม่สามารถติดตามหรือไม่มีการรับประกันสินค้าจะถือว่าเป็นความไม่แน่นอนที่ไม่อนุญาตให้ซื้อขายได้ตามหลักชะรีอะฮ์ เนื่องจากจะเกิดความไม่ยุติธรรมและการโต้แย้งเกิดขึ้น

1.2 การซื้อขายแบบซาลาม(Salam) ที่มีการส่งมอบในอนาคตโดยการกำหนดและระบุคุณสมบัติหรือคุณลักษณะชัดเจน เพื่อให้สินค้านั้นเป็นไปตามที่ตกลง จะเห็นได้ว่าความไม่แน่นอนนั้นมีอยู่ แต่มีการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนไว้ เพื่อชดเชยหรือปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น

1.3 การลงทุนในธุรกิจโดยมีการจัดทำแผนธุรกิจและระบบงาน

1.4 การลงทุนในหุ้นโดยมีการวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้น(Fundamental Analysis)และ/หรือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค(Technical Analysis) เป็นต้น

  1. Major Gharar( غررفاحش gharar fahish) คือ ความคลุมเครือไม่โปรงใส ความไม่แน่นอน ความผันผวนที่มีมาก ทำให้ไม่สามารถยอมรับและเป็นสิ่งต้องห้าม(ฮารอม) ตามหลักชะรีอะฮ์ เช่น การซื้อขายที่ไม่ระบุราคา การซื้อขายที่ไม่ระบุคุณลักษณะของสินค้า การซื้อขายที่ไม่มีการระบุจำนวน การซื้อขายที่ผู้ขายไม่ได้ครอบครองสินค้า การซื้อขายไม่มีการกำหนดเวลาจัดส่ง การลงทุนซึ่งปราศจากข้อมูล เป็นต้น อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่ยุติธรรมและข้อโต้แย้ง ตัวอย่างเช่น

2.1 การซื้อขายปลาที่อยู่ในทะเล หรือในสระน้ำ ซึ่งไม่ทราบจำนวนหรือยังไม่ได้จับปลามาครอบครอง

2.2 การซื้อขายลูกวัวในท้องแม่วัวที่ยังไม่กำเนิด ซึ่งอาจจะเกิดความไม่แน่นอนหากลูกวัวนั้นเสียชีวิตหรือพิการ

2.3 การซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการรับประกัน หรือมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผู้ขาย ดังที่กล่าวมาข้างต้น

2.4 การทำธุรกิจแบบไม่มีแผนงานหรือแผนการ นำไปสู่การขาดทุนและล้มละลาย

2.5 การลงทุนในหุ้นแบบขาดการวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้น (Fundamental Analysis) และ/หรือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical    Analysis)

 

Leave a comment