นิศอบพิกัดทองคำและโลหะเงินในการจ่ายซะกาต

นิศอบพิกัดทองคำและโลหะเงินในการจ่ายซะกาต

 

zakat-made-easy-e1349948536575

จากคำสั่งของท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) กล่าวว่า
“เมื่อท่านครอบครอง (โลหะเงิน) จำนวน 200 ดิรฺฮัม และครบรอบปี ในจำนวน ( โลหะเงิน ) นั้น จะต้องจ่าย (ซะกาต) 5 ดิรฺฮัม, และไม่ต้องจ่ายสิ่งใด (หมายถึงไม่ต้องจ่ายซะกาตทองคำ) จนกว่าท่านจะครอบครองทองคำจำนวน 20 ดีนารฺ ซึ่งหากท่านครอบครองทองคำ 20 ดีนารฺ พร้อมกับครบรอบปี เช่นนี้จะต้องจ่าย (ซะกาต) ครึ่งดีนารฺ และหากมีจำนวนมากกว่านั้นก็ให้คำนวณตามจำนวน (ที่เพิ่ม) นั้น” (บันทึกหะดิษโดยอิมามอบูดาวูด เลขที่ 1575 หะดิษเศาะเฮียะฮฺ)

จากหะดิษข้างต้นจะเห็นได้ว่ามุสลิมที่มีทองคำหรือโลหะเงิน ครอบตามจำนวนนั้นจะต้องออกซะกาตแก่บุคคล 8 จำพวกที่ศาสนากำหนดไว้ (5/200 หรือ 0.5/20) เท่ากับ 2.5 % เมื่อถือครองครบรอบปีปฏิทินอิสลาม ต้องครบนิศอบหรือพิกัดขั้นต่ำ ดังนี้
-พิกัดของทองคำ(Gold) ที่ต้องจ่ายซะกาตเมื่อครบจำนวน 20 ดีนารฺ หรือเท่ากับทองคำหนักประมาณ 85 กรัม หรือเท่ากับทองคำ (Gold) หนักประมาณ 5.58 บาท (หนึ่งดีนาร์ของทองมีน้ำหนักเท่ากับหนึ่งมิษกอล และหนึ่งมิษกอลเทียบกับมาตรวัดในปัจจุบันเท่ากับ 4.25กรัม ดังนั้น ยี่สิบดีนาร์เท่ากับ85 กรัมทองคำ นั้นคือ 20 × 4.25 = 85 กรัมทองคำ)
-พิกัดของโลหะเงิน(Silver) ที่ต้องจ่ายซะกาต เมื่อมีครบจำนวน 200 ดิรฺฮัม หรือเท่ากับเงินหนักประมาณ 595 กรัม หรือเท่ากับโลหะเงิน (Silver) หนักประมาณ 39.6 บาท

 

ซึ่งในปัจจุบันการเงินตรา หรือธนบัตร นั้นไม่ได้ใช้รูปแบบเดียวกันกับสมัยท่านรสูลุลลอฮฺ (ศ็อลลัลลอฮุอะลัยฮิวะซัลลัม) คือใช้ดินาร(เหรียญทองคำ) และ ดิรฺฮัม (เหรียญโลหะเงิน) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและมีมูลค่าในตัวของมันเอง ในปัจจุบันแต่ละประเทศนั้นมีการใช้เงินตราหรือธนบัตร เป็นของตนเองในรูปแบบกระดาษ (Fiat Money) เป็นหลักซึ่งไม่มีมูลค่าในตัวของมันเอง ขณะที่ทองคำและโลหะเงินกลายเป็นทรัพย์สินมีค่าที่มีการกำหนดราคาในตลาดโลก และถูกใช้เป็นสินทรัพย์ในการลงทุนมากกว่าเป็นสื่อกลางในการใช้จ่ายแบบในสมัยก่อน

ดังนั้นในการจ่ายซะกาตในปัจจุบันจึงมีการนำทองคำและโลหะเงินมาเปรียบเทียบเพื่อหานิศอบ(Nisaab) เพื่อที่จะทำการออกซะกาต ปัจจุบันมีนักวิชาการร่วมสมัยได้ให้แนวทางการคิดนิศอบไว้ด้วยกันสองแนวทางหลักๆ ดังต่อไปนี้

นิศอบพิกัดทองคำ

แนวทางแรกคือ คำนวณนิศอบ(Nisaab) หรือพิกัดขั้นต่ำตามราคาทองคำ (Gold) นำหนัก 85 กรัม หรือทองคำ 5.58 บาท โดยให้คำนวณราคาทองคำโดยใช้ราคาเฉลี่ย 12 เดือนล่าสุด หรือรอบปีล่าสุด เพื่อเป็นการสะท้อนค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายตลอดปีที่นำทรัพย์สินมาคำนวณซะกาต เพราะการคำนวณซะกาตนั้นเป็นการนำความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินสุทธิ์ที่ครบรอบปีมาคำนวณ ซึ่งในเดือน มีนาคม 2557 นิศอบ (Nisaab) หรือพิกัดขั้นต่ำตามราคาทองคำ (Gold) น้ำหนัก 85 กรัม เท่ากับ 110,293 บาท

(สามารถดูนิศอบพิกัดทองคำ (Gold) ย้อนหลังได้ที่ นิศอบทองคำ)

นิศอบพิกัดโลหะเงิน

แนวทางที่สองคือ คำนวณนิศอบ(Nisaab) หรือพิกัดขั้นต่ำตามราคาโลหะเงิน(Silver) น้ำหนัก 595 กรัม หรือ 39.6 บาทโดยให้คำนวณราคาโลหะเงินโดยใช้ราคาเฉลี่ย 12 เดือนล่าสุด หรือรอบปีล่าสุด เพื่อเป็นการสะท้อนค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายตลอดปีที่นำทรัพย์สินมาคำนวณซะกาต เพราะการคำนวณซะกาตนั้นเป็นการนำความมั่งคั่งหรือทรัพย์สินสุทธิ์ที่ครบรอบปีมาคำนวณ ซึ่งในเดือน มีนาคม 2557 นิศอบ (Nisaab) หรือพิกัดขั้นต่ำตามราคาโลหะเงิน(Silver) น้ำหนัก 595 กรัม เท่ากับ 14,128 บาท
(สามารถดูนิศอบพิกัดโลหะเงิน (Silver) ย้อนหลังได้ที่ นิศอบโลหะเงิน)

เมื่อพิจารณาจากพิกัดขั้นต่ำตามราคาทองคำ (Gold) และพิกัดขั้นต่ำตามราคาโลหะเงิน (Silver) นั้นมีความแตกต่างกันมาก โดยนักวิชาการส่วนใหญ่มีความเห็นว่าให้เปรียบเทียบและใช้พิจารณาจากพิกัดขั้นต่ำตามราคาทองคำ (Gold) และพิกัดขั้นต่ำตามราคาโลหะเงิน (Silver) ว่าพิกัดในมีมูลค่าต่ำกว่าให้ใช้พิกัดนั้น (สำหรับเดือน มี.ค 2557 ควรใช้นิศอบเท่ากับ 14,128 บาท เป็นต้น) เพื่อเป็นการสนับสนุนให้มีการจ่ายซะกาตกันอย่างกว้างขวางในสังคมและการจ่ายซะกาต 2.5% นั้นไม่ได้เป็นจำนวนมากมายอะไรนัก อีกทั้งเป็นวายิบที่มุสลิมทุกคนควรกระทำ

 

วัลลอฮุอะลัม เรียบเรียงโดย Muhammad Azmii Mahamad
หมายเหตุ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่บทความด้วยการอ้างอิงถึง
http://www.การเงินอิสลาม.com หรือ http://www.islamicfinancethai.com

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s