ทัศนะของอุลามะอ์ การเทรด คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) รวมถึง Bitcoin ฮาลาลหรือฮารอม ?

Cryptocurrency  คือ สกุลเงินที่ถูกเข้ารหัส  โดยคริปโตเคอเรนซีหรือสินทรัพย์ดิจิทัลนั้น ได้รับการออกแบบมาเพื่อเป็นสื่อกลางของการแลกเปลี่ยนโดยใช้วิทยาการเข้ารหัสหรือรหัสลับ (Cryptography) ในการป้องกันและยืนยันธุรกรรม อีกทั้งยังใช้การเข้ารหัสเพื่อควบคุมการผลิตคริปโตบางประเภทอีกด้วย โดยพื้นฐานแล้วคริปโตเคอเรนซีจะมีการจำกัดการเข้าถึงฐานข้อมูล ซึ่งนั่นทำให้การเปลี่ยนแปลงข้อมูลเป็นไปได้ยากถ้าหากยังไม่ได้กรอกเงื่อนไขเฉพาะ เราสามารถซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน และสะสมคริปโตได้ นอกจากนี้คริปโตเคอเรนซียังสามารถใช้แทนมูลค่าของบริการที่ถูกสร้างไว้บนเทคโนโลยีบล็อกเชนอีกด้วย โดยบล็อกเชน หรือ บางทีก็ถูกเรียกว่าระบบบันทึกรายการธุรกรรมดิจิทัลบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ (Distributed Ledger Technology หรือ DLT) นั้น ทำให้ธุรกรรมของสินทรัพย์ดิจิทัลสามารถเกิดขึ้นได้อย่างปลอดภัย โปร่งใส่ และปลอมแปลงได้ยาก ด้วยการใช้เครือข่ายแบบกระจายศูนย์ (Decentralization) และ การใช้รหัสผ่านแบบสร้างข้อมูลแทนตัว (Cryptographic hashing) คริปโตเคอเรนซีส่วนใหญ่ทำงานอยู่บนบล็อกเชนสาธารณะหรือบล็อกเชนวงเปิด (Public Blockchain) อย่างไรก็ตามบล็อกเชนยังมีอีกหนึ่งประเภทนั่นก็คือบล็อกเชนส่วนบุคคลหรือบล็อกเชนวงปิด (Private Blockchain)

ตัวอย่างคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ในรูปแบบต่างๆ

1. Bitcoin (บิตคอย)ชื่อย่อการซื้อขาย “BTC”

สกุลเงินดิจิทัลแรกที่ทุกคนรู้จักและและได้รับการยอมรับมากที่สุด  เป็นราชาแห่งคริปโตเคอร์เรนซีถูกยอมรับว่าเป็นเหรียญที่มีมูลค่าในตัวของมันเอง(Store of Value) โดยจะมีอยู่จำกัดไม่เกิน 21 ล้านบิตคอย ซึ่งปัจจุบันยังคงขุดออกมาไม่ครบ บิตคอย ถูกใช้เป็นสกุลกลางหลักในการแลกเปลี่ยนซื้อขายเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ในยุคแรกๆ จนเป็นที่แพร่หลาย

2. Ethereum ชื่อย่อการซื้อขาย “ETH”

เหรียญคริปโต ETH เป็นเหรียญบนบล็อกเชนอีเธอเรียม ซึ่งบล็อกเชนอีเธอเรียม มีจุดเด่นคือ Smart Contract หรือ สัญญาที่เขียนขึ้นตามเงื่อนไขต่างๆ ในรูปแบบโค้ดคอมพิวเตอร์ ต่อมาเหรียญคริปโตหรือโทเคนต่างๆ ที่เกิดในตอนหลังมากมาย ก็มีการใช้แพลตฟอร์มบล็อกเชนอีเธอเรียม

3. XRP ชื่อย่อการซื้อขาย “XRP”

XRP เป็นเหรียญดิจิทัลของบริษัทริปเปิล ซึ่งริปเปิลคือบริษัทเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ ที่สร้างระบบโอนเงินระหว่างประเทศแบบอัตโนมัติ โดยสามารถโอนเงินข้ามประเทศได้ภายใน 40 วินาที บริการแก่ลูกค้าองค์กร นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ยังได้เข้าไปลงทุนในบริษัทนี้ด้วย

4. Bitcoin Cash ชื่อย่อการซื้อขาย “BCH”

เป็นเหรียญที่แยกตัวออกมาจาก บิตคอยน์ ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2560 ด้วยการเพิ่มขนาดบล็อกเป็น 8MB ทำให้ทำธุรกรรมได้มากขึ้น เร็วขึ้น จากเดิมที่ “บิตคอยน์” ยังมีความล่าช้าในการทำธุรกรรม เพราะขนาดบล็อกจำกัดแค่ 1MB

5. Bitcoin SV ชื่อย่อการซื้อขาย “BSV”

เป็นสกุลเงินที่แยกออกมาจาก Bitcoin Cash เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2561 ซึ่งในวงการเรียกว่า การ Hard Fork

6. Tether ชื่อย่อการซื้อขาย “USDT”

USDT เป็นสเตเบิ้ลคอยน์หรือเหรียญคริปโตที่ตรึงมูลค่าไว้กับสินทรัพย์ที่ผันผวนต่ำ ทำให้มูลค่าค่อนข้างนิ่ง ซึ่ง USDT มีมูลค่าตรึงอยู่กับดอลลาร์ในอัตรา 1USDT :1 USDโดยแนวคิดของ USDT คือการเป็นดอลลาร์ดิจิทัล

7. Litecoin ชื่อย่อการซื้อขาย “LTC”

จะมีความคล้ายกับ บิตคอยน์ เพราะสร้างขึ้นตามโปรโตคอลบิตคอยน์ และสามารถขุด หรือ mining ได้เช่นกัน แต่จะใช้อัลกอริทึม Scrypt ส่วนของบิตคอยน์ใช้ SHA-256

8. EOS ชื่อย่อการซื้อขาย “EOS”

มีความคล้ายกับ Ethereum คือเป็นแพลตฟอร์มแบบกระจายอำนาจ โดยมี Smart Contract เปิดให้คนมาใช้แพลตฟอร์ม EOS สร้างแอปบนบล็อกเชนได้

9. Binance Coin ชื่อย่อการซื้อขาย “BNB”

เป็นเหรียญที่สร้างโดยกระดานเทรดระดับโลกอย่าง Binance เพื่อใช้ในระบบนิเวศของ Binance เช่น ใช้เป็นส่วนลดค่าธรรมเนียมในการเทรด หรือการซื้อเหรียญ IEO เป็นต้น

10. Stellar ชื่อย่อการซื้อขาย “XLM”

XLM เป็นคริปโตในเครือข่ายบล็อกเชนของ Stellar ก่อตั้งโดย Jed McCaleb ในปี 2557 ซึ่ง Jed McCaleb เป็นผู้ร่วมก่อตั้งริปเปิลและยังเป็นผู้ก่อตั้งเว็บเทรดคริปโต MtGox

ซึ่งในโลกปัจจุบันมีเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) เกิดขึ้นมากมายหลายพันเหรียญใช้งานในระบบนิเวศเครือข่ายต่างๆกัน และได้รับความนิยมแตกต่างกันเช่นกัน ซึ่งเหรียญใดเป็นที่ยอมรับและเป็นที่นิยมใช้งานในวงกว้างก็จะถูกบรรดาศูนย์การซื้อขาย(exchange)เหรียญคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) บรรจุเข้าตลาดเพื่อให้นักลงทุนหรือผู้ที่ใช้งานเหรียญนั้นๆ ได้ซื้อ-ขายได้ง่ายขึ้น

ปัจจุบัน การเทรดคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) หรือการลงทุนเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ที่คาดว่าจะมีมูลค่ามากขึ้นในอนาคต เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุนรูปแบบใหม่ซึ่งได้มีการยอมรับในรอบไม่ถึงสิบปีนี้จากทั่วโลก

แต่ยังคงมีการถกเถียงการในหมู่อุลามะอ์ในโลกปัจจุบันเรื่องการลงทุนใน คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ว่าเป็นที่อนุมัติหรือไม่ ซึ่งมีทั้งทัศนะที่ตัดสินว่าฮารอม และตัดสินว่าฮาลาล

อุลามะอ์ที่ตัดสินว่าฮาลาลสำหรับการลงทุนหรือการใช้ คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) รวมถึงบิตคอย(Bitcoin)

อุลามะฮ์ที่เห็นว่าคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) รวมถึงบิตคอย(Bitcoin)เป็นที่อนุมัติ โดยอาศัยหลักชะรีอะฮ์ในเรื่องของมุอามาลาตที่ว่า

الأصل في المعاملات الإباحة

หลักเดิมพื้นฐานในเรื่องการทำธุรกรรมคืออนุมัติ จนกว่าจะพบว่ามีสิ่งที่ต้องห้ามตามหลักชะรีอะฮ์

โดยอุลามะฮ์กลุ่มนี้มีความเห็นว่าคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) รวมถึงบิตคอย(Bitcoin) เป็นที่อนุมัติตามหลักชะรีอะฮ์เนื่องจาก

  • คริปโตเคอเรนซี่ เป็นสิ่งที่ได้รับการยอมรับว่ามีมูลค่าในสังคม
  • คริปโตเคอเรนซี่ ถูกยอมรับเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนหรือการทำธุรกรรม จากสังคมบางส่วนหรือทั้งหมด
  • คริปโตเคอเรนซี่ มีการวัดมูลค่า
  • คริปโตเคอเรนซี่สามารถวัดทางบัญชีได้

Mufti Muhammad Abu-Bakar ได้ตัดสินว่าบิตคอยนั้นเป็นที่อนุญาต เพราะเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า และสามารถทำหน้าที่เป็นสกุลเงินซึ่งได้รับการยอมรับใช้จ่ายในหลายร้านค้าหรือบริษัทและแพลตฟอร์มในโลกปัจจุบัน แต่มุฟตีก็ได้ให้ข้อสังเกตว่าถึงแม้ว่าจะเป็นที่อนุญาต แต่มีความผันผวนสูงเนื่องจากเพิ่งเป็นยุคเริ่มต้นของอุตสาหกรรมคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ดังนั้นความเสี่ยงในการขาดทุนก็สูงเช่นกัน

Ziyaad Mahomed ประธานคณะกรรมการชะรีอะฮ์ธนาคาร HSBC Amanah Malaysia Bhd ได้ให้ความเห็นว่า บิตคอยเป็นที่อนุมัติ ซึ่งตามหลักชะรีอะฮ์ไม่ได้ระบุว่าสกุลเงินจะต้องมีมูลค่าที่แท้จริง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยอมรับในการใช้จ่ายในสังคม อย่างไรก็ตามเชคก็ได้ให้ความเห็นว่า การเทรดบิตคอยมีความผันผวนสูงเนื่องจากนักลงทุนรายย่อยเข้ามาเก็งกำไร  

Mufti Billal Omarjee มีความเห็นว่าตามหลักชะรีอะฮ์ บิตคอยนั้นฮาลาลในการซื้อและลงทุน ในฐานะสินทรัพย์ดิจิตอล โดยไม่เห็นว่าพิจารณาเป็นสกุลเงิน

อุลามะอ์ที่ตัดสินว่าฮารอมสำหรับการลงทุนหรือการใช้ คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) รวมถึงบิตคอย(Bitcoin)

The Grand Mufti of Egypt – Shaykh Shawki Allam จากประเทศอียิปต์ ตัดสินว่าฮารอมโดยให้เหตุผลว่า

  • คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency)  มีความผันผวนสูง มีความเสี่ยงสูง และมีการใช้เพื่อการฟอกเงินและฉ้อโกงโดยไม่สามารถตรวจสอบได้
  • เป็นระบบที่ไม่สามารถควบคุม หรือออกกฎเกณฑ์ให้เกิดความโปรงใส่ในการใช้งาน
  • คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ กับระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง
  • คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) มีความผันผวนสูงจะเป็นเหตุให้เกิดความเสี่ยงสูงกับนักลงทุน อาจจะเกิดการขาดทุนได้จำนวนมาก
  • คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ไม่สามารถทดแทนระบบสกุลเงินปัจจุบันเพราะมีความผันผวนสูง และมีความยากในการจัดเก็บให้ปลอดภัยจากการแฮกรูปแบบต่างๆ และถ้าหากถูกแฮกหรือขโมยก็เป็นการยากมากที่จะติดตามกลับมาได้
  • นอกจากนี้เชคยังย้ำว่า คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) โดยเฉพาะ บิตคอยถูกใช้โดยอาชญากร ในการการฟอกเงิน การค้ายาเสพติด ค้ามนุษย์โดยง่าย และติดตามไม่ได้  

The Turkish Government’s Religious wing(สภาศาสนาของรัฐบาลตุรกี) ตัดสินและประกาศว่า บิตคอย ฮารอม โดยให้เหตุผลในเรื่อง มีความผันผวนและความเสี่ยงสูง และมีการใช้ในอาชญากรรมประเภทต่างๆ

Shaykh Haitham al-Haddad ประธานสภาอุลามะฮ์จากยุโรป ได้เขียนบทความให้ความเห็นว่า

  • คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ไม่เป็นที่อนุญาตให้ใช้เป็นสกุลเงิน เพราะไม่มีพื้นฐานมูลค่าจริงๆ เหมือนทองคำ
  • คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ไม่มีการรับรองจากหน่วยงานรัฐให้เป็นสกุลเงินถและไม่ถูกกำกับดูแลโดยรัฐบาลใดๆ
  •  คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) มีความผันผวนสูง และถูกใช้ในการฟอกเงิน และอาชญากรรม ได้ง่าย
  • อย่างไรก็ตามเชคได้ให้ความเห็นว่าหากมี  คริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ที่แบคอัพด้วยทองคำจริงๆ ก็จะถูกพิจารณาว่าฮาลาลได้

จะเห็นได้ว่ามีทัศนะในการตัดสินจากหลากหลายองค์กร ในการให้ความเห็นเกี่ยวกับการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) อย่างไรก็ตามผู้เขียนเห็นว่าหากผู้อ่านเลือกทัศนะที่ต้องการลงทุนในคริปโตเคอเรนซี่ก็จะต้องรู้ว่าเนื่องจากเหตุผลใดเพื่อที่จะไปตอบ อัลลอฮ์ ซบ. ในวันกิยามัตที่จะถูกสอบสวนในเรื่องนี้ และ สิ่งที่จำเป็นจะต้องศึกษาเพิ่มเติมก่อนการเทรดเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ (Cryptocurrency) ก็คือ

  1. จะต้องทราบว่าเหรียญคริปโตเคอเรนซี่ที่จะลงทุนหรือเทรดนั้น คือเหรียญอะไร ถูกใช้ในธุรกรรมหลักในเรื่องใด ซึ่งจะต้องไม่ผิดต่อหลักชะรีอะฮ์ เช่นมีบางเหรียญุถูกใช้เป็นหลักในธุรกิจคาสิโน หรือมีบางเหรียญถูกใช้ในธุรกรรมหลักในการปล่อยกู้ยืมแบบมีดอกเบี้ยเป็นหลัก เป็นต้น  
  2. คริปโตเคอเรนซี่ มีความผันผวนมากขึ้นลงตาม อุปสงค์ อุปทานเป็นหลัก ไม่สามารถมีการประเมินมูลค่าพื้นฐานแบบหุ้นที่สามารถประเมินมูลค่า Valuation ได้ ดังนั้นต้องศึกษาเรื่องของกราฟ เทคนิคอล เพื่อลดความเสี่ยงในเรื่องจุดเข้าซื้อ หรือจุดขาย หากทำการซื้อขายโดยไม่มีความรู้ และคิดว่าซื้อแล้วจะกำไรอย่างเดียวนั้นจะฮารอมในเรื่องของฆอรอร หรือ ความเสี่ยงในความไม่รู้ คือความเสี่ยงที่ฮารอมตามหลักชะรีอะฮ์

และสิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกเรื่องคือ แชร์ลูกโซ่ที่จะมาแอบอ้างการลงทุนในคริบโตเคอเรนซี่ อย่างที่เป็นข่าวดังเช่น ONECOIN หรือ NRVCOIN ซึ่งไม่ใช่เหรียญคริปโตเคอเรนซี่จริงๆ แต่เป็นเหรียญหลอกลวง หรือ Scam coin ดังนั้นก่อนการลงทุนใดๆควรตรวจสอบให้ดีก่อนทุกครั้ง

วัลลอฮุอะลัม

สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่

https://www.islamicfinanceguru.com/investment/cryptocurrencies-like-bitcoin-halal/

https://www.islamicfinanceguru.com/halal-cryptocurrency-bitcoin-guide/

shariah-analysis-of-bitcoin-cryptocurrency-blockchain

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s