หลักการการซื้อขายในอิสลาม
การซื้อขาย
ในภาษาอาหรับเรียกการซื้อขายว่า อัล-บัยอฺ (اَلْبَيْعُ) ตามหลักภาษา หมายถึง การแลกเปลี่ยนสิ่งหนึ่งกับอีกสิ่งหนึ่ง หรือการให้สิ่งที่มีราคา (สินค้า) และเอาราคาหรือกลับกัน เรียกการซื้อว่า “อัชชิรออฺ” (اَلشِّرَاءُ) และเรียกผู้ซื้อว่า อัล-มุชตะรีย์ (اَلمُشْتَرِىْ) เรียกการขายว่า อัล-บัยอฺ (اَلْبَيْعُ) และเรียกผู้ขายว่า อัลบาอิอฺ (اَلْبَائِعُ)
ส่วนนิยามในทางนิติศาสตร์ หมายถึง การทำข้อตกลงแลกเปลี่ยนสิ่งที่เป็นทรัพย์สินกับทรัพย์สินที่ใช้ประโยชน์ได้เพื่อให้อีกฝ่ายหนึ่งครอบครองตลอดไป โดยมีคำเสนอและคำสนอง
บัญญัติว่าด้วยการซื้อขาย
ข้อตกลงซื้อขายเป็นสิ่งที่อนุมัติในอิสลาม ดังมีหลักฐานปรากฏ ดังนี้
(1) หลักฐานจากอัลกุรฺอาน ระบุว่า: (وَأَحَلَّ اللهُ الْبَيْعَ وَحَرَّمَ الرِّبَا) “และอัลลอฮฺทรงอนุมัติการซื้อขายและทรงห้ามเรื่องดอกเบี้ย” (สูเราะฮฺ อัล-บะกอเราะฮฺ อายะฮฺที่ 275)
(2) หลักฐานจากอัล-หะดีษ ท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) ได้ถูกถามว่า : (أَيُّ الْكَسْبِ أَطْيَبُ فَقَالَ:عَمَلُ الرَّجُلِ بِيَدهِ ، وَكُلُّ بَيْعٍ مَبْرُوْرٍ) “การประกอบอาชีพอันใดเล่าที่ดีที่สุด? ท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) ตอบว่า : คือการที่บุคคลทำงานด้วยมือของเขาเอง และทุกๆ การซื้อขายที่ดี” (รายงานโดย อัล-หากิม) และหะดีษที่รายงานโดย ซุบัยร์ อิบนุ อัลเอาวาม (ร.ฎ.) จากท่านท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) ว่า :
(لأَنْ يَأْ خُذَأَحَدُكُمْ حَبْلَهُ ، فَيَأْتِيْ بِحُزْمَةِالْحَطَبِ عَلٰى ظَهْرِه ، فَيَبِيْعَهَا فَيَكُفَّ اللهُ بِهَاوَجْهَهُ خَيْرٌلَهُ مِنْ أَنْ يَسْأَلَ الَّنَاس ، أَعْطَوه أَوْمَنَعُوْهُ)
“การที่ผู้หนึ่งในหมู่พวกท่านจะเอาเชือกของเขา แล้วเขาก็นำมาด้วยมัดฟืนบนหลังของเขา อันเป็นเหตุให้เขาขายมัดฟืนนั้น และเป็นเหตุให้อัลลอฮฺทรงรักษาใบหน้าของเขานั่นย่อมเป็นการดีที่สุดสำหรับเขาผู้นั้น แทนที่เขาจะไปเที่ยวขอผู้คน ไม่ว่าผู้คนจะให้เขาหรือไม่ให้ก็ตามที”
(รายงานโดยบุคอรี -1402-)
องค์ประกอบการซื้อขาย
การซื้อขายจะเกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ เมื่อครบองค์ประกอบดังต่อไปนี้
(1) ผู้ขายและผู้ซื้อ
(2) สินค้า
(3) ราคาสินค้า
(4) การเสนอขายและการสนองรับ
เงื่อนไขเกี่ยวกับซื้อขาย
การซื้อขายเป็นการทำข้อตกลง และข้อตกลงทุกอย่างนั้น จำต้องมีองค์ประกอบที่สำคัญ ซึ่งกล่าวมาแล้ว และในแต่ละองค์ประกอบ จะต้องมีเงื่อนไขกำกับเพื่อให้เป็นข้อตกลงที่มีผลใช้ได้และถูกต้องตามศาสนบัญญัติ ดังนี้
(1) ผู้ขายและผู้ซื้อ มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.1 ต้องเป็นผู้ที่รับผิดชอบตนเองได้ หมายถึง บรรลุศาสนภาวะ มีสติปัญญาสมบูรณ์ และมีความสามารถดูแลทรัพย์สินของตนได้เป็นอย่างดี
1.2 เป็นผู้มีความสมัครใจในการมีเจตนาทำข้อตกลงซื้อขาย กล่าวคือ ในขณะซื้อหรือขาย ผู้ซื้อและผู้ขายมีเจตนาดำเนินการโดยอิสระ และมีความพึงพอใจ
1.3 ผู้ขายและผู้ซื้อต้องเป็นคนละคน
1.4 มีการมองเห็น ดังนั้นการซื้อขายของคนตาบอดจึงใช้ไม่ได้ เว้นเสียแต่เมื่อคนตาบอดได้มอบอำนาจให้ผู้อื่นไปทำการแทนในเรื่องการซื้อขาย และผู้รับมอบอำนาจมีเงื่อนไขครบก็ถือว่าใช้ได้
(2) สินค้าและราคา ในการซื้อขายที่ถูกต้องสมบูรณ์ มีเงื่อนไขกำหนดคุณลักษณะสินค้าและราคาดังต่อไปนี้
2.1 สินค้าต้องมีอยู่แล้วขณะทำข้อตกลงซื้อขาย ศาสนาไม่อนุมัติให้ขายสินค้าที่ยังไม่มี เช่น ขายผลไม้ที่ยังไม่มีที่ต้น หรือขายลูกสัตว์ที่แม่ของมันจะตั้งท้อง ในทำนองเดียวกันห้ามขายสินค้าที่เหมือนกับไม่มีขณะทำข้อตกลง เช่น ขายลูกสัตว์ที่แม่ของมันกำลังตั้งท้องอยู่ หรือขายน้ำนมที่มีอยู่ในเต้านม เป็นต้น เนื่องจากมีหลักฐานจากอัลหะดีษระบุว่า :- (لاَتَبِعْ مَالَيْسَ عِنْدَكَ) “ท่านอย่าขายสิ่งที่ไม่มี ณ ที่ท่าน” (รายงานโดย อบูดาวูด -3503-)
2.2 สินค้าและราคา ต้องเป็นทรัพย์สินที่มีราคาและสะอาดตามศาสนบัญญัติ ดังนั้นการซื้อขายสิ่งของที่เป็นณะญิส เช่น ของมึนเมา (สุรา) และสิ่งต้องห้ามตามบัญญัติศาสนา เช่น ซากสัตว์ที่ตายเอง โดยไม่ได้ทำการเชือดตามบัญญัติศาสนาหรือเลือดหรือมูลสัตว์หรือสุนัข จึงใช้ไม่ได้เนื่องจากมีหลักฐานจากอัลหะดีษระบุว่า :
(إِنَّ اللّٰهَ وَرَسُوْلَهُ حَرَّمَ بَيْعَ الْخَمْرِوَالْمَيْتَةِ وَالْخِنْزِيْرِوَالأَصْنَامِ) “แท้จริงอัลลอฮฺและร่อสู้ลของพระองค์ได้ห้ามการซื้อขายสุรา, ซากสัตว์ที่ตายเอง, สุกร และเจว็ด” (รายงานโดย บุคอรี -2121- / มุสลิม -1581-)
สำหรับสินค้าที่แต่เดิมสะอาด แล้วต่อมาเปื้อนนะญิส แต่สามารถขจัดนะญิสนั้นออกไป อาทิเช่น เนยแข็ง ที่มีนะญิสตกลงไปเมื่อตักนะญิสและรอยเปื้อนออกไป ก็เป็นที่อนุมัติให้ซื้อขายได้ ส่วนสินค้าที่แต่เดิมสะอาด แล้วปนเปื้อนนะญิส อาทิเช่น น้ำส้มสายชู , นม , น้ำมัน , เนยเหลว และของเหลวอื่นๆ ที่มีนะญิสตกลงไปแล้วไม่สามารถทำความสะอาดได้อีกต่อไป ก็ไม่เป็นที่อนุมัติให้ทำการซื้อขาย โดยเทียบเคียงกับสิ่งที่เป็นนะญิสและสิ่งต้องห้ามมาแต่เดิม
2.3 สินค้าและราคาต้องเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ตามบัญญัติศาสนาและตามประเพณีนิยม ดังนั้นการซื้อขายสัตว์เลื้อยคลาน หรือสัตว์ที่มีพิษหรือยาเสพติดประเภทต่างๆ หรือเครื่องเล่นที่ศาสนาห้ามเอาประโยชน์จากมันก็ถือว่าใช้ไม่ได้
2.4 สินค้าและราคาต้องอยู่ในภาวะที่สามารถจะส่งมอบให้ผู้ซื้อได้จะโดยทันที หรือจะด้วยสัญญาซื้อขายก็ได้
ดังนั้นการซื้อขายทรัพย์สินที่หายไป หรือถูกอายัด หรือถูกจำนองเอาไว้ หรือการซื้อขายสินค้าที่มิอาจแยกส่วนได้ โดยหากแยกส่วนแล้วจะทำให้ราคาลดลง หรือชำรุดเสียหายเอาประโยชน์มิได้ ก็ถือว่าใช้ไม่ได้
2.5 สินค้าหรือราคาต้องอยู่ในอำนาจด้วยการปกครอง หรือเป็นกรรมสิทธิ์ของคู่ตกลงซื้อขาย ดังนั้นการที่ผู้เป็นเจ้าของซื้อขายทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของตน หรือผู้ปกครอง หรือผู้จัดการที่ถูกแต่งตั้งไว้ทำการซื้อขายทรัพย์สินของผู้เยาว์ที่อยู่ในการปกครอง หรือผู้ได้รับมอบอำนาจ (วะกีล) ทำการซื้อขายทรัพย์ของผู้อื่นที่ถูกมอบอำนาจให้ตน (มุวักกิล) ทั้งหมดถือว่าใช้ได้
ฉะนั้นถ้าหากบุคคลที่เข้าไปดำเนินการซื้อขายไม่มีอำนาจในทรัพย์สินและไม่อยู่ในฐานะของบุคคลที่ถูกระบุข้างต้น การดำเนินการดังกล่าวก็ถือว่าเป็นโมฆะ เนื่องจากมีหลักฐานในอัล-หะดีษระบุว่า : (لاَبَيْعَ إِلاَّفِيْمَاتَمْلِكُ) “ไม่มีการซื้อขายนอกจากในสิ่งที่ท่านครอบครองเป็นกรรมสิทธิ์อยู่เท่านั้น” (รายงานโดย อบูดาวูด -3503-)
2.6 สินค้าและราคาต้องเป็นที่รู้กันดีสำหรับคู่ตกลงซื้อขาย
ดังนั้นการซื้อขายสินค้าหรือราคาที่ไม่เป็นที่รู้กันสำหรับคู่ตกลงซื้อขาย ทั้งสองฝ่ายหรือฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด หรือการซื้อขายสิ่งหนึ่งจากหลายๆ สิ่งที่มี โดยไม่มีการระบุให้แน่ชัดว่าเป็นสิ่งใด หรือไม่รู้ถึงสกุลเงินในกรณีที่ไม่มีประเพณีนิยมในสถานที่ตกลงซื้อขายกำหนดว่าเป็นเงินสกุลใด ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ ทั้งนี้มีข้อยกเว้นในกรณีดังต่อไปนี้ คือ
สินค้านั้นต้องอยู่ต่อหน้าและมีการมองเห็นสินค้านั้น การซื้อขายก็ถือว่าใช้ได้ แม้จะไม่มีการระบุปริมาณ และลักษณะภายนอกก็ตาม
หรือเมื่อคู่ตกลงซื้อขายเห็นสินค้าและราคาที่นำมาแลกเปลี่ยนกันแล้วนับแต่ก่อนการตกลงซื้อขาย โดยทั้งสองฝ่ายจำลักษณะต่างๆ ของมันได้ ซึ่งโดยมากแล้วจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในช่วงเวลานับตั้งแต่ได้เห็นจนกระทั่งถึงเวลาที่ตกลงซื้อขายกัน เช่น ผ้าและบ้าน เป็นต้น ก็ถือว่าการซื้อขายนั้นใช้ได้
หรือการเห็นเพียงบางส่วนของสินค้าและราคา โดยไม่จำเป็นต้องเห็นส่วนที่เหลือก็ได้ เช่นตัวอย่างสินค้าที่เหมือนๆ กัน หรือการเห็นเฉพาะส่วนภายนอกของสินค้า เช่น ผลไม้ที่มีเปลือกแข็ง การเห็นแต่เปลือกก็ถือว่าเพียงพอแล้วในการซื้อขาย
(3) การเสนอขายและการสนองรับ
ในการซื้อขายนั้น จะต้องมีถ้อยคำที่คู่ตกลงซื้อขายพูดออกมาด้วยความสมัครใจว่าต้องการทำข้อตกลงซื้อขายระหว่างกัน โดยครอบคลุมถึง คำเสนอขาย (อีญาบ) จากฝ่ายผู้ขาย เช่นกล่าวว่า : “ฉันขายเสื้อตัวนี้ให้กับท่านด้วยราคาสองร้อยบาท” และคำสนองรับ (กอบูล) จากฝ่ายผู้ซื้อ เช่นกล่าวว่า “ฉันรับซื้อมันหรือฉันซื้อมันด้วยราคาดังกล่าว” เป็นต้น
3.1 ถ้อยคำที่ใช้ตกลงซื้อขาย มี 2 ประเภท คือ
(1) คำที่ชัดเจน (ศอเรียะฮฺ) คือคำที่มีความหมายชัดเจนว่าเป็นการซื้อขาย เช่น ผู้ขายกล่าวว่า “ฉันขายสิ่งนี้ให้ท่าน” หรือ “ฉันให้ท่านครอบครองสิ่งนี้” แล้วผู้ซื้อก็สนองรับว่า “ฉันซื้อหรือฉันเข้าครอบครองสิ่งนี้” เป็นต้น
(2) คำที่คลุมเครือ (กินายะฮฺ) คือคำที่อาจตีความได้ว่าเป็นการซื้อขายหรืออาจตีความเป็นอื่นได้ เช่น ผู้ขายกล่าวว่า “ฉันให้สิ่งนี้แก่ท่านด้วยราคาสองร้อยบาท หรือ ท่านจะรับสิ่งนี้ไปด้วยราคาสองร้อยบาท” แล้วผู้ซื้อก็สนองรับว่า “ฉันเอาสิ่งนี้หรือฉันรับมันไว้”
การใช้ถ้อยคำที่ชัดเจน (ศอเรียะฮฺ) ในการทำข้อตกลงซื้อขายเมื่อครบเงื่อนไข ก็ถือว่าเป็นข้อตกลงซื้อขายทันที เพียงแต่มีการกล่าวถ้อยคำเสนอขายและสนองรับ โดยไม่ต้องมีการตั้งเจตนา (เนียต) แต่อย่างใด , ส่วนการใช้ถ้อยคำที่คลุมเครือ (กินายะฮฺ) จะยังไม่ถือเป็นข้อตกลงซื้อขาย นอกจากต้องตั้งเจตนา (เนียต) ว่าเป็นการซื้อขายไปพร้อมๆ กัน หรือมีกรณีแวดล้อมบ่งชี้ว่าเจตนาซื้อขาย
3.2 เกี่ยวกับเงื่อนไขว่าด้วยถ้อยคำที่ใช้ตกลงซื้อขายและการที่ถ้อยคำที่ใช้ตกลงซื้อขายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการซื้อขาย จึงเกิดคำถามว่า การซื้อขายแบบต่างคนต่างให้ ซึ่งเรียกในภาษาอาหรับว่า อัลมุอาฏอฮฺ (اَلْمُعَاطَاةُ) นั้นใช้ได้หรือไม่? เพราะการซื้อขายแบบต่างคนต่างให้ (อัล-มุอาฏอฮฺ) ผู้ขายจะมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อ และผู้ซื้อก็มอบราคาให้แก่ผู้ขาย โดยไม่มีถ้อยคำตกลงซื้อขายจากทั้งสองฝ่าย หรือฝ่ายหนึ่งกล่าวถ้อยคำแต่อีกฝ่ายหนึ่งไม่กล่าว
ตามแนวทางที่รู้กันอย่างแพร่หลาย (มัชฮู๊ร) ในมัซฮับอัช-ชาฟีอีย์คือ : ผู้ซื้อขาย ทั้งสองฝ่ายจะต้องกล่าวถ้อยคำเสนอขายและคำสนองรับ ดังนั้นการซื้อขายแบบต่างคนต่างให้ (อัล-มุอาฎอฮฺ) จึงถือว่าใช้ไม่ได้ตามแนวทางดังกล่าว แต่นักวิชาการบางท่านในมัซฮับอัช-ชาฟีอีย์ ถือว่าการซื้อขายแบบต่างคนต่างให้ มีผลใช้ได้กับสินค้าที่มีราคาเล็กน้อย เช่น ขนมปังหนึ่งปอนด์ หรือสบู่หนึ่งก้อน เป็นต้น
ถ้าหากเป็นสินค้าที่มีราคาแพง เช่น ที่ดินหรือทองคำ การซื้อขายแบบต่างคนต่างให้ก็ถือว่าใช้ไม่ได้ ท่านอันนะวาวีย์ (ร.ฮ.) นักวิชาการสังกัดมัซฮับ อัช-ชาฟีอีย์คนสำคัญมีความเห็นว่า การซื้อขายแบบต่างคนต่างให้ (อัล-มุอาฏอฮฺ) ถือว่าใช้ได้ โดยไม่มีข้อแม้ใดๆ ไม่ว่าสินค้านั้นจะมีราคาน้อยหรือมากก็ตาม เมื่อมีประเพณีนิยมกระทำกันเช่นนั้น ความเห็นของอันนะวาวีย์ (ร.ฮ.) นี้เป็นสิ่งที่ทำให้ผู้คนได้รับความสะดวก เฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การซื้อขายแบบต่างคนต่างให้ (อัล-มุอาฏอฮฺ) เป็นที่นิยมแพร่หลายจนแทบจะไม่พบว่าผู้ซื้อผู้ขายกล่าวถ้อยคำตกลงซื้อขายระหว่างกัน
3.3 การเสนอขายหรือการสนองรับ จะต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) คำเสนอ (อีญาบ) และคำสนอง (กอบูล) จะต้องไม่ทิ้งช่วงห่างกันนานตามประเพณีนิยม และจะต้องไม่พูดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับการซื้อขายระหว่างคำเสนอและคำสนอง แม้จะเป็นเวลาสั้นๆ ก็ตาม
(2) คำสนอง (กอบูล) จะต้องสอดคล้องกับคำเสนอ (อีญาบ) ในทุกด้าน
(3) จะต้องไม่นำไปผูกพันกับเงื่อนไขใดๆ หรือตั้งกำหนดเวลาโดยคำที่ใช้ตกลงซื้อขายนั้นจะต้องบ่งบอกว่าเป็นการซื้อขายที่บรรลุผลในทันทีและเป็นการให้เข้าครอบครองตลอดไปในตัวสินค้าที่ตกลงซื้อขายกัน ส่วนการตั้งเงื่อนไขและตั้งกำหนดเวลาในราคาสินค้าว่าจะชำระราคาตอนต้นเดือนหรืออีกสองเดือน เป็นต้น กรณีเช่นนี้ถือว่ากระทำได้ เพราะราคาเป็นหนี้สินที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ซื้อ ส่วนกรณีถ้าหากการซื้อขายนั้น เป็นการแลกเปลี่ยนกัน คือแลกเปลี่ยนสินค้ากับสินค้า เช่นแลกเปลี่ยนรถยนต์กับรถยนต์ เป็นต้น ก็ตั้งเงื่อนไขได้ในกรณีนี้
3.4 การเสนอขายและการสนองรับด้วยลายลักษณ์อักษร ถือเป็นสิ่งอนุมัติให้กระทำได้ ดังเช่นในกรณีที่ผู้ขายกับผู้ซื้ออยู่ไกลกันไม่สามารถพูดกันได้โดยตรง
ประเภทการซื้อขาย
การซื้อขายแบ่งประเภทได้ดังนี้
(1) การซื้อขายด้วยระบบเงินสด คือ การซื้อขายที่มีการชำระเงิน และรับสินค้าไปทันที การซื้อขายประเภทนี้เป็นที่อนุมัติในอิสลาม
(2) การซื้อขายด้วยการวางมัดจำและระบบเงินเชื่อ คือ การซื้อขายที่วางเงินล่วงหน้าแล้วรับสินค้าภายหลัง หรือรับสินค้าก่อนแล้วจ่ายเงินภายหลัง ทั้งสองกรณีจำต้องระบุราคา ชนิด และปริมาณของสินค้าอย่างชัดเจน การซื้อขายประเภทนี้เป็นที่อนุมัติในอิสลาม ดังปรากฏหลักฐานจากอัล-หะดีษว่า :
“ท่านนบีฯ (صلى الله عليه وسلم) กล่าวไว้ความว่า : ถ้าหากผู้ใดซื้อขายสิ่งของโดยวางเงินก่อน ก็จงขายในจำนวนที่แน่นอน ปริมาณที่แน่นอน และภายในกำหนดที่แน่นอน”
(รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม)
ในการซื้อขายด้วยระบบเงินเชื่อ มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ต้องชี้แจงลักษณะของสินค้าอย่างชัดแจ้ง หรือมีตัวอย่างสินค้าให้ดู
(2) ต้องกำหนดระยะเวลาที่แน่นอน
(3) ต้องกำหนดราคา ชนิด ขนาด จำนวน ปริมาณ น้ำหนัก และคุณภาพของสินค้าที่แน่นอน
(4) ต้องมีการจดบันทึกการซื้อขายหรือทำสัญญากันระหว่างสองฝ่าย
(5) ต้องมีพยานรู้เห็น 2 คนที่เป็นชาย หรือ ชายหนึ่งคนและหญิงสองคน
ที่มาเขียนโดย อ.อาลี เสือสมิง http://www.alisuasaming.com/main/index.php/article/lawofislam/1310-lawofislam012135