เงินฝากวะดีอะห์(WADIAH)
เงินฝาก ด้วยหลักการวะดีอะห์ (wadiahﻭﺩﻴﻌﺔ )
การเงินฝาก ด้วยหลักการวะดีอะห์ เป็นการฝากเงินแบบรักษาทรัพย์ (Safekeeping of a deposit) โดยมีพื้นฐานอยู่บนหลักความไว้วางใจ (Trust) หรือ อามานะห์ (Amanah) หลักการวะดีอะห์ ที่ใช้ในสถาบันการเงินมีอยู่ 2 ประเภทคือ
1. วะดีอะห์ ยัด อามานะห์(Wadiah Yad Amanah) คือ การฝากสิ่งใด ไม่ว่าจะเป็นทรัพย์สินหรือเงินสด เมื่อมีการทวงถามหรือเรียกคืนก็จะได้สิ่งนั้นกลับคือไป รูปแบบนี้สถาบันการเงินไม่สามารถนำทรัพย์สินหรือเงินสดของลูกค้าไปใช้ลงทุน โดยที่ลูกค้าไม่ได้ให้การยินยอม จึงไม่ได้รับความนิยมจากสถาบันการเงินมากนัก อย่างไรก็ตามมีบางสถาบันการเงินให้บริการนี้โดยเก็บค่าธรรมเนียมในการรับฝาก(Fee) และผู้รับฝากไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบหากเกิดการเสี่ยหายของสินทรัพย์ ที่ไม่ได้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้รับฝาก เช่น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากความเก่าแก่ของทรัพย์สินหรือธนบัตร เป็นต้น
2. วะดีอะห์ ยัด เดาะมานะฮ์ (Wadiah Yad Damanah) เป็นรูปแบบการฝากเงิน ที่ผู้ฝากอนุญาติให้สถาบันการเงินหรือธนาคาร สามารถนำไปลงทุนตามหลักศาสนาอิสลามได้ โดยที่สถาบันการเงินหรือธนาคารจะคืนเงินฝากเมื่อลูกค้าทวงถาม โดยการฝากวะดีอะห์รูปแบบนี้จะมีการรับประกันเงินฝากทั้งจำนวน แต่จะไม่มีการกำหนดผลตอบแทนเป็นส่วนหนึ่งในสัญญา เพราะจะถือว่าเป็นริบาหรือดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามสถาบันการเงินหรือธนาคารสามารถที่จะให้ของขวัญ หรือสินน้ำใจ ที่เรียกว่า ฮิบะห์ แก่ผู้ฝากชนิดนี้ได้ตามการพิจารณาของธนาคาร เนื่องจากผู้ฝากอนุญาติให้นำเงินฝากไปลงทุนได้ โดยทั่วไปสถาบันการเงินอิสลามจะให้ฮิบะห์ในอัตราที่อัตราที่อาจจะใกล้เคียงกับ อัตราดอกเบี้ยในตลาดจึงทำให้มุสลิมหลายๆท่านเกิดความสงสัยว่า ฮิบะห์คือดอกเบี้ยหรือไม่ นอกจากนี้การให้ฮิบะห์นั้นถ้ามีการให้สูงเกินไปก็จะเป็นต้นทุนแก่สถาบันการเงินนั้น ๆ และถ้าหากจะให้น้อยไปก็อาจจะไม่จูงใจลูกค้าให้ฝากเงินต่อนั้นเอง เพราะเงินฝากนั้นถือว่าเป็นแหล่งเงินทุน(source of fund) ของธนาคารประเภทหนึ่งเช่นกัน และการให้ฮิบะห์นั้นเป็นข้อตกลงฝ่ายเดียวของผู้ให้มิได้เป็นข้อตกลงร่วมกันสองฝ่าย ดังนั้นเรื่องอัตราที่คาดว่าจะได้รับผลตอบแทนจึงอาจะทำให้เกิดความสับสนแก่ลูกค้ามุสลิม หรือแม้แต่พนักงานที่ไม่มีความเข้าใจอย่างแท้จริงในระบบการเงินอิสลามได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่จะต้องทำความเข้าใจกันต่อไป
ตัวอย่างของเงินฝากที่ใช้หลักการวะดีอะห์ ยัด เดาะมานะฮ์ คือ เงินฝากออมทรัพย์และเงินฝากเดินสะพัด
ตารางเปรียบเทียบเงินฝากออมทรัพย์ทั่วไปของธนาคาร กับเงินฝาก ด้วยหลักวะดีอะห์ ในระบบการเงินอิสลาม
|
เงินฝากออมทรัพย์ทั่วไป |
เงินฝากวะดีอะห์ ยัด เดาะมานะฮ์ |
เงินฝาก |
รับประกันเงินฝากทั้งจำนวน |
รับประกันเงินฝากทั้งจำนวน |
ผลตอบแทน |
กำหนดดอกเบี้ยตั้งแต่วันทำสัญญา |
ให้ฮิบะห์ หลังจากสถาบันการเงินอิสลามนำไปลงทุน ตามการพิจารณาของธนาคาร |
เงินฝากไปลงทุน |
โดยการปล่อยกู้ หรือหาผลตอบแทนอื่นๆที่อาจจะไม่ถูกหลักศาสนาอิสลาม |
นำไปลงทุนตามกรอบของศาสนาอิสลาม |
โดย Muhammad Azmii Mahamad
หมายเหตุ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่บทความด้วยการอ้างอิงถึง http://www.islamicfinancethai.com