ตะกาฟุล(Takaful) หรือการประกันภัยแบบอิสลาม คือ อะไร ?
ตะกาฟุล (Takaful) หรือการทำประกันภัยแบบอิสลาม คือรูปแบบของการประกันที่ถูกต้องตามหลักศาสนาอิสลามหรือชะรีอะฮ์ ที่อยู่บนพื้นฐานของการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และร่วมมือระหว่างกัน ดังนั้นระบบการประกันแบบอิสลาม(Islamic Insurance) หรือหลักการตะกาฟุล(Takaful) หมายถึงการค้ำประกันร่วม (Joint Guarantee) จากหลักฐานในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานความว่า
“ ท่านทั้งหลายจงร่วมมือกันบนความดีและความยำเกรง ” ซูเราะห์ที่ 5 อายะห์ที่ 2
นอกจากนี้ท่าน ( ซ . ล .) ได้มีพระวจนะในเรื่องของการช่วยเหลือในเรื่องของความทุกข์ยากความว่า
“ จากท่านอะบูฮุรอยเราะฮ์ จากท่านศาสดา ( ซ . ล .) ได้กล่าวไว้ว่า บุคคลใดที่ได้ทำการปลดเปลื้องภาระหรือความทุกข์ยากในการดำรงชีวิตของผู้ศรัทราในโลกนี้ พระองค์อัลลอฮ์ จะทรงปลดเปลื้องความทุกข์ของเขาในโลกหน้าและบุคคลใดที่ช่วยบรรเทาความทุกข์ยากของผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ พระองค์ก็จะทรงบรรเทาความทุกข์ยากของเขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า ” รายงานโดย มุสลิม
มัซฮับหรือสำนักคิดทางศาสนาอิสลาม มีมติว่าแนวคิดเรื่องการประกัน สามารถยอมรับได้ในศาสนาอิสลาม เนื่องจาก
- สมาชิกหรือผู้เอาประกันภัยให้ความช่วยเหลือระหว่างกันเพื่อประโยชน์ของกลุ่มผู้เอาประกันภัย เพื่อให้เป็นไปตามหลักการค้ำประกันร่วม (Joint Guarantee)
- สมาชิกหรือผู้เอาประกันภัยทุกคนจะจ่ายเงินสนับสนุน เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนในกลุ่มผู้เอาประกันภัย เพื่อให้เป็นไปตามหลักการค้ำประกันร่วม (Joint Guarantee) และหลักการบริจาค(Charity)
- ภายใต้สัญญาการบริจาค(Charity) ซึ่งมีเจตนาที่จะช่วยบรรเทาความสูญเสีย และกระจายความรับผิดชอบ
- ไม่มีประเด็นเกี่ยวกับความไม่แน่นอน (Gharar) และการพนัน(Maisir) เพราะการสมัครเป็นสมาชิกตะกาฟุลและการบรรเทาความสูญเสียถูกนำมาใช้ แทนการซื้อขายประกันกับเกมแห่งโอกาส
- เงินสนับสนุนของสมาชิกตะกาฟุลถูกนำไปแสวงหาผลตอบแทนภายใต้หลักการอิสลาม
โดยรูปแบบโครงสร้างของการดำเนินงานของตะกาฟูล ในรายละเอียดนั้นมีอยู่หลายรูปแบบ โดยเป็นการนำหลักการทางชะรีอะห์ หรือสัญญาต่างๆของหลักมุอามาลาต(Muamalat) ที่เป็นที่อนุญาตในศาสนาอิสลามมาประยุกต์ใช้
REF. finansalife.com
Khan, Dr. Muhamad Muhsin, The Translation of the Meanings of Sahih al-Bukhari, Kazi Publications, Lahore , Pakistan , 1979, p. 34.
Sahih Muslim, Kitab al-Birr, p. 59
Sunan al-Tirmizi, Vol. 4, Cagri Yayinlari Istanbul, 1981 in Kitab al- Sifatul Qiyamah wa al- Rakaik al- Wara, Bab 60, No. 2517, p. 668.