ซะกาตทรัพย์สิน(มาล)
ประเภทของซะกาต (ทานบังคับ) แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ 1. ซะกาตอาหาร หรือซะกาตฟิตเราะห์ และ 2. ซะกาตทรัพย์สิน หรือ ซะกาตมาล
ซะกาตทรัพย์สิน ภาษาอาหรับ เรียกว่า “ซะกาตมาล” เป็นซะกาตที่มีการกำหนดเวลา และมีเงื่อนไขของจำนวน เก็บเฉพาะมุสลิมที่มีทรัพย์สินถึงจำนวนที่กำหนด ถ้ามีต่ำกว่า ไม่ต้องจ่ายซะกาต ทรัพย์สินที่ต้องจ่ายซะกาต มีดังนี้
1. โลหะเงินและทองคำ เงินสด เงินในบัญชี หุ้น สินค้า หากมีมูลค่าเท่ากับราคาทองคำหนัก 85 กรัม หรือประมาณ 5.66 บาท (ทองคำ 1 บาท หนัก 15 กรัม) เมื่อครบรอบปีต้องจ่ายซะกาต 2.5% จากทรัพย์สินเหล่านี้
(โดยมีข้ออ้างอิงจากพระวัจนศาสดาบทหนึ่งซึ่งรายงานโดยท่านอาลี (ร.ฎ.)ว่า ท่านรอซูล (ซ.ล.) ได้กล่าวว่า ความว่า : เมื่อท่านครอบครองไว้ สองร้อยดิรฮัม และครบรอบปี ต้องจ่ายซะกาตห้า ดิรฮัม และไม่มีอะไรที่ท่านจะต้องจ่าย(หมายถึงทองคำ) จนกว่าท่านจะครอบครองมันไว้ ยี่สิบดีนาร เมื่อท่านครอบครองไว้ยี่สิบดีนาร และครบรอบปี ท่านต้องมีซะกาตครึ่งดีนาร และส่วนที่เกินจากนั้นก็ให้ใช้หลักคำนวนเช่นกัน และไม่พึงต้องจ่ายซะกาตในทรัพย์สินจนกว่า จะครบรอบปี.. รายงานโดย อบูดาวุด ส่วนเครื่องประดับที่ประดิษฐ์จากทองคำหรือเงิน มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ
1. เครื่องประดับที่ถูกเก็บไว้ เพื่อการเช่า ซึ่งในกรณีนี้ นักวิชาการทั้งหมดเห็นพ้องกันว่า พึงจำเป็นต้องจ่ายซะกาต โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ
2. เครื่องประดับที่ถูกนำมาใช้ประดับ ก็จำเป็นต้องจ่ายซะกาตเช่นกันตามทัศนะของนักวิชาการที่หลักฐานในการอ้างอิงของพวกเขาแข็งแรงกว่าอีกกลุ่มหนึ่ง
2. ผลผลิตจากการเกษตร
(ต้องจ่ายซะกาตของธัญญพืชและผลไม้ทันทีเมื่อครบตามพิกัด ซึ่งพิกัดของธัญญพืชและผลไม้นั้น คือ 5 วะสัก ดังคำกล่าวของท่านรอซูล (ซ.ล.) ความว่า : ในสิ่งที่ต่ำกว่า ห้า วะสัก ไม่ต้องจ่ายซะกาต.. รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม
โดย 1 วะสัก เท่ากับ 60 ซออฺ ดังนั้น 5 วัสก์ เท่ากับ 300 ซออฺ ซึ่ง 1 ซออฺเท่ากับ 3 ลิตร โดยถ้าคำนวนตามนี้ พิกัด ธัญญพืชและผลไม้เท่ากับ 800 ลิตร (หากเป็นข้าวสารเท่ากับ 60 ถังโดยประมาณ)
และไม่กำหนดวาระของธัญญพืชและผลไม้ ดังพระดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ที่ว่า
ความว่า : และเจ้าทั้งหลายจงจ่ายสิทธิ์ของมันในวันที่เก็บเกี่ยวมัน [ซูเราะฮฺ อัลอันอาม จากโองการที่ 141]
ส่วนอัตราของซะกาตชนิดนี้ มี 2 ประเภท ด้วยกันคือ
1. ผลผลิตจากแหล่งเกษตรที่อาศัยน้ำ จากแหล่งน้ำธรรมชาติ เช่น ฝน ลำคลอง เป็นต้น อัตราที่ต้องจ่ายคือ ร้อยละสิบ หรือ 10% ของผลผลิตรวม.
2. ผลผลิตจากแหล่งเกษตรที่ต้องใช้แรง หรือเครื่องทุนแรง เช่นใช้ระหัดฉุดน้ำ หรือเครื่องยนต์เป็นต้น อัตราที่ต้องจ่ายคือ ร้อยละห้า หรือ 5% ของผลผลิตรวม. ดังหลักฐานจากวจนะของท่านรอซูล(ซ.ล.) ความว่า : สำหรับพืชที่ใชัน้ำฝนรด ตาน้ำ หรือลำคลอง หรืออาศัยลำต้นดูดน้ำ ต้องจ่ายซะกาต เศษหนึ่งส่วนสิบ(ร้อยละสิบ) และพืชที่ อาศัยการฉุดน้ำด้วยระหัด ต้องจ่ายซะกาต ครึ่งหนึ่งของเศษหนึ่งส่วนสิบ (ร้อยละห้า). รายงานโดยบุคอรี)
3. ปศุสัตว์ เช่น แพะ แกะ วัว ควาย อูฐ เป็นต้น
(ได้แก่ อูฐ วัว แพะหรือแกะ การจ่ายซะกาตของสัตว์เหล่านี้ มีกฎเกณฑ์หรือเงื่อนไขว่า ต้องเป็นสัตว์ที่ถูกเลี้ยงให้หากินเองตามที่สาธารณะเป็นส่วนใหญ่ ตามหลักฐานจากวัจนศาสดา. – ความว่า : ในอูฐที่เลี้ยงตามทุ่งหญ้าสาธารณะนั้นมีซะกาต.. รายงานโดย อะฮฺมัด อบูดาวุดและนาซาอี
และจากวัจนศาสดาอีกบทหนึ่ง – ความว่า : ซะกาตของแพะนั้น คือ (แพะ) ที่เลี้ยงตามทุ่งหญ้าสาธารณะ .. รายงานโดย บุคอรี การจ่ายซะกาตของสัตว์เหล่านี้มีเงื่อนไขอยู่ว่า ต้องครอบครองครบตามพิกัดในช่วงครบรอบปี
4. ขุมทรัพย์ที่พบได้ในแผ่นดิน (สินแร่และทรัพย์ที่ถูกฝังดินไว้)
1. สินแร่ หมายถึง สิ่งที่ถูกขุดพบจากพื้นดินและมีค่า ซึ่งไม่ใช่พืชพันธุ์ เช่น แร่ทองคำ แร่เงิน แร่เหล็ก ทับทิม และน้ำมันดิบ เป็นต้น
ทรัพย์สินประเภทนี้จำเป็นต้องจ่ายซะกาตเช่นกัน ดังพระดำรัสของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ความว่า : บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลาย จงบริจาคส่วนหนึ่งจากบรรดาสิ่งดีๆ ของสิ่งที่พวกเจ้าได้แสวงหาไว้ และจากสิ่งที่เราได้ให้ออกมาจากดินสำหรับพวกเจ้า [ ซูเราะฮฺ อัลบะกอเราะฮฺ โองการที่ 167]
และไม่ต้องสงสัยเลยว่า สินแร่คือสิ่งที่อัลลอฮฺ (ซ.บ.)ทรงบันดาลให้ออกมาจากดินเพื่อมวลมนุษย์.
นักวิชาการส่วนใหญ่ เห็นว่าการกำหนดพิกัดของทรัพย์สินประเภทนี้ จำเป็นเช่นกันในการจ่ายซะกาต โดยอัตราที่ต้องจ่ายเป็นซะกาตคือ ร้อยละ 2.5 หรือ 2.5% ของทรัพย์ที่ขุดพบ เปรียบเทียบกับอัตราของเงินและทองคำ และทรัพย์สินประเภทนี้ไม่มีการกำหนดวาระ โดยต้องจ่ายซะกาตในขณะที่ขุดพบตามพิกัดทันที
2. ทรัพย์ที่ถูกฝังดินไว้ หมายถึง ทรัพย์สินที่ถูกขุดพบ ซึ่งถูกฝังไว้ในยุคก่อนอิสลาม ไม่ว่าจะขุดพบในแผ่นดินอิสลามหรือไม่ก็ตาม ทรัพย์สินประเภทนี้จะถูกจารึกสัญลักษณ์ต่างๆของชาวกาฟิร เช่น ชื่อกษัตริย์ ชื่อเจ้าของ ภาพของคน หรือภาพของเทวรูปต่างๆ แต่ถ้าสิ่งที่ถูกจารึกไว้เป็นสัญลักษณ์ของมุสลิม เช่น ชื่อนบี หรือชื่อผู้นำมุสลิมหรือโองการอัลกุรอาน หรือไม่ปรากฏสัญลักษณ์ใดอยู่เลย เช่น ถ้วยจาน เครื่องประดับ สร้อยเป็นต้น ทรัพย์ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ถือว่า เป็นของสูญหาย ไม่สามารถนำมาครอบครองได้ จนกว่าจะประจักษ์ว่าผู้ใดเป็นเจ้าของ เนื่องจากทรัพย์สินของมุสลิมเป็นกรรมสิทธ์แด่เจ้าของตลอดไป
อัตราซะกาตของทรัพย์สินประเภทแรกนั้น (ไม่ใช่ของมุสลิม) คือ หนึ่งส่วนห้า หรือร้อยละ 20 ของสิ่งที่ถูกขุดพบ โดยไม่จำกัดพิกัดจำนวนใดๆทั้งสิน จึงจำเป็นต้องจ่ายซะกาต ไม่ว่าจะขุดพบจำนวนมากหรือน้อยก็ตาม ดังวจนะของท่านรอซูล (ซ.ล.) จากการรายงานของท่านอบูฮุรอยเราะฮฺที่ว่า ความว่า: และในสิ่งที่ขุดพบนั้น (ต้องจ่ายซะกาต) หนึ่งส่วนห้า..
ซะกาตของทรัพย์ชนิดนี้ จะถูกจ่ายให้กับการบำเพ็ญบ้านเมืองมุสลิม และส่วนที่เหลือหลังจากซะกาตแล้ว เป็นกรรมสิทธ์ของผู้ขุดพบ ดังที่ท่านอุมัร (ร.ฎ.)ได้มอบส่วนที่เหลือแก่ผู้ขุดพบมัน
อัตราการจ่ายซะกาตดังกล่าว สามารถสรุปได้ดังตาราง
ชนิดทรัพย์สิน |
พิกัดต่ำสุด |
อัตราซะกาต |
รอบปี |
1.ทองคำ เงิน เงินออม ค่าจ้าง หุ้น ส่วนแบ่งและทรัพย์สินเพื่อการทำธุรกิจค้าขาย |
ทองคำน้ำหนัก 85 กรัม |
2.5% |
1 ปี |
2.ปศุสัตว์ สามารถดูรายละเอียดได้ที่ http://www.islamhouse.com/330802/th/th/articles/ซะกาตปศุสัตว์ |
|||
3.ผลผลิตจากการเพาะปลูก |
700 กิโลกรัม |
10% (ในกรณีใช้น้ำฝน) 5% (กรณีใช้น้ำจากการชลประทาน) |
– |
4.ทรัพย์สินที่ค้นพบ |
พิจารณาตามพิกัดทองคำ |
20 % |
– |
ที่มา : “ระบบซะกาต (ทานบังคับ) : เศรษฐกิจชุมชนในอิสลาม” โดย วรรณวดี พูลพอกสิน
:ชมรมมุสลิม ศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา