ความสำคัญของซะกาตในอิสลาม

Zakat

“ซะกาต”  ตามความหมายในเชิงภาษาศาสตร์ หมายถึง การทำให้สะอาดบริสุทธิ์  ความจำเริญ หรือการพัฒนา  ในขณะที่ความหมายทางชารีอะฮฺ (หนทางปฏิบัติ หรือ วิถีชีวิตที่คนมุสลิมต้องดำเนินตาม) หมายถึง อัตราส่วนที่แน่นอนที่ได้จากทรัพย์สินที่แน่นอนซึ่งบังคับให้จ่ายแก่บุคคลที่แน่นอนหาก (อับดุลเลาะ  บารู, 2549, น. 91)  หรือความหมายที่ทำให้เข้าใจชัดเจนขึ้น คือ สวัสดิการซะกาต ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสวัสดิการสังคมในอิสลามที่มุ่งเน้นให้สวัสดิการในการดูแลปกป้องบุคคลในสังคม ซึ่งเป็นภารกิจของปัจเจกบุคคลที่มีความสามารถ  โดยที่หลักสวัสดิการนั้น ได้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอุดมการณ์ของสังคม จริยธรรมของบุคคลในสังคม  พฤติกรรมการใช้ชีวิตในสังคม โดยมีความศรัทธาต่อพระเจ้าเป็นแกนกลาง และการช่วยเหลือด้วยทรัพย์สินเป็นกลไก เพื่อให้ผู้มีสิทธิรับซะกาต สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข  (ศุภชัย  สมันตรัฐ, 2548, น. 16)   ดังนั้น  เจตนาของการจ่ายซะกาต  คือ การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความตระหนี่ ขี้เหนียว ซึ่งเป็นโรคที่เป็นภัยต่อความเจริญทางจิตใจของสังคมมนุษย์ ซะกาตจึงเป็นสิ่งชำระล้างสังคมให้บริสุทธิ์จากการขัดแย้งระหว่างคนมีกับคนจน ซึ่งนอกจากจะเป็นการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ต่อสังคมส่วนรวมอีกด้วย   พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาด้วยความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถแตกต่างกัน ที่ทำให้รายได้ของแต่ละคนแตกต่างกันตามไปด้วย  อิสลามไม่ต้องการให้ความแตกต่างด้านความสามารถ ด้านรายได้นี้  นำไปสู่ความแตกต่างด้านชนชั้น จนเกิดความขัดแย้งขึ้นจากความแตกต่างนั้น คนรวยไม่ใส่ใจคนยากจน มองดูด้วยสายตาเหยียดหยาม  ในขณะที่คนยากจนมองคนรวยด้วยสายตาแห่งความอิจฉา และมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น อิสลามไม่ต้องการให้มีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคม  ดังคำกล่าวของท่านศาสดามุฮัมหมัดที่ว่า  “คนใดกินจนท้องอิ่ม แล้วปล่อยให้เพื่อนบ้านหิวโหย คนนั้นมิใช่มุสลิม”  ซึ่งคำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างเกื้อกูลกัน

ในขณะที่ซะกาต ความหมายในเชิงนิติศาสตร์อิสลาม หมายถึง ทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่ศาสนาอิสลามได้บัญญัติให้เจ้าของทรัพย์สินนั้น มีหน้าที่ต้องจ่ายให้แก่บุคคลซึ่งเป็นผู้มีสิทธิได้รับซะกาตตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่บัญญัติศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้ ซึ่งส่วนที่ถูกกำหนดไว้เป็นหน้าที่บนทรัพท์สินที่ถูกเจาะจงของบุคคลบุคคลหนึ่ง ในช่วงระยะเวลาที่ถูกกำหนดหรือหมายถึงทรัพย์สินจำนวนหนึ่งที่อัลลอฮทรงกำหนดให้จ่ายแก่บรรดาที่ผู้มีสิทธิ โดยที่อิสลามถือว่า จำนวนของทรัพย์ที่ถูกนำไปจ่ายเป็นทาน ซะกาต นั้นยังความเจริญงอกเงยให้แก่ส่วนที่เหลือจากที่ได้จ่ายไป และเป็นการชำระกิเลสของผู้บริจาคนั้นด้วย (al-Qardhawi, Yusuf.1993, Fiqh al-Zakah . Berut : al-Risalah . p : 37) อิบนิ ตัยมีนะห์ กล่าวว่า “จิตใจของผู้บริจาคบริสุทธิ์สะอาดและทรัพย์ของเขางอกเงย” (Ibn Taimiah ,Muhammad . 1967. Majmua Fatawa . USA : The Geramon Press. P : 8) การงอกเงยและการขัดเกลามิได้จำกัดอยู่ที่ทรัพย์สินอย่างเดียว แต่กินความไปถึงจิตใจของผู้บริจาคอีกด้วย (โองการที่ 103 ซูเราะห์ อัตเตาบะฮ กล่าวว่า “จงรับเอาทานจากสมบัติของพวกเขา เพื่อเจ้า (มุฮัมมัด) จะได้ชำระพวกเขาให้สะอาดและขัดเกลาพวกเขา (ด้วยทานนั้น)” มีการกล่าวถึง คำซะกาต ไว้ในอัลกรุอานถึง 30 ครั้ง กล่าวควบคุมกับคำนมาซไว้ในโองการเดียวกันถึง 27 ครั้ง กล่าวควบคู่กับคำนมาซไว้ในโองการเดียวกันถึง 27 ครั้ง จาก 30 ครั้งนี้มี 8 ครั้ง เป็นโองการที่ประทานลงมาที่มักกะฮ นอกนั้นประทานลงมาที่มะดีนะฮทั้งสิ้น) จึงเห็นได้ว่า ซะกาตเป็นความเจริญ ความงอกเงย และการขัดเกลาทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับรูปธรรม คือทรัพย์สมบัติ และนามธรรมคือ จิตใจ หมายความว่า การบริจาคทรัพย์ที่เป็นทานซะกาตนำมาซึ่งความเจริญ ความงอกเงยให้แก่ทรัพย์สมบัติและเป็นการขัดเกลากิเลสของผู้บริจาค มิให้เห็นแก่ตัว มีความตระหนี่ ปราศจากความเมตตาต่อบรรดาผู้ที่ขัดสนยากจน

 Zakat-ซะกาต

 ในขณะที่ผู้ปฏิเสธซะกาตด้วยความตระหนี่แล้ว เขาผู้นั้นถูกจัดให้เป็นผู้ที่ทำบาปใหญ่ชนิดหนึ่ง ซึ่งหากเขาเสียชีวิตในขณะนั้นชะตากรรมของเขาจะถูกกำหนดโดยพระประสงค์ของอัลลอฮฺ(ซ.บ.)ระหว่างเข้าสวรรค์หรือลงนรก และจะต้องถูกประจานให้ผู้อื่นได้รับทราบถึงพฤติกรรมของเขา ดังพระดำรัสของพระองค์ไว้

ความว่า : แท้จริงอัลลอฮฺจะไม่ทรงอภัยโทษ แก่ผู้ที่ตั้งภาคีกับพระองค์โดยเด็ดขาด และพระองค์จะทรงอภัยโทษในบาปอื่นต่อผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ (อันนิสาอฺ : 48)

 บุคคลที่ปฏิเสธการออกซะกาตนั้น อัลลอฮฺ (ซ.บ.)ได้ทรงกำหนดบทลงโทษแก่เขาไว้แล้ว ดังพระดำรัสของพระองค์

 ความว่า : และบรรดาผู้สะสมทองคำและเงิน โดยไม่ยอมจ่ายไปในวิถีทางของอัลลอฮฺ จงแจ้งข่าวดีแก่พวกเขาเถิดถึงการลงโทษอันเจ็บปวด ในวันที่มันจะถูกนำมาเผาในไฟนรกยะฮันนัม แล้วนำมันไปนาบหน้าผาก สีข้าง และหลังของพวกเขา นี่คือสิ่งที่พวกเจ้าสะสมไว้ เพื่อตัวของพวกเจ้าเอง ดังนั้นพวกเจ้าจงลิ้มรส สิ่งที่พวกเจ้าได้สะสมไว้เถิด. (อัตเตาบะฮฺ : 34-35)

 และท่านอบูฮูรอยเราะฮฺ (ร.ฎ.) รายงานว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ.ล.)ได้กล่าวไว้ :

 ความว่า : ไม่มีผู้ครอบครองทรัพย์สินใด ที่ไม่จ่ายซะกาต (ในวันปรโลก) นอกเสียจากทรัพย์นั้น จะถูกนำไปเผาในนรกญะฮัมนัม จนเป็นแท่ง แล้วถูกนำไปทาบกับสีข้างทั้งสองและหน้าผากของเขา จนถึงวันที่อัลลอฮฺจะทรงพิพากษาบ่าวของพระองค์ ในวันซึ่งเวลาของมันนานเท่ากับห้าหมื่นปี (ของโลกนี้). รายงานโดย บุคอรีและมุสลิม

ดังนั้นซะกาต ถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบสวัสดิการสังคมในอิสลามที่มุ่งเน้นให้สวัสดิการในการดูแลปกป้องบุคคลในสังคม ซึ่งเป็นภารกิจของปัจเจกบุคคลที่มีความสามารถ โดยที่หลักสวัสดิการนั้น ได้ครอบคลุมตั้งแต่ระดับอุดมการณ์ของสังคม จริยธรรมของบุคคลในสังคม พฤติกรรมการใช้ชีวิตในสังคม โดยมีความศรัทธาต่อพระเจ้าเป็นแกนกลาง และการช่วยเหลือด้วยทรัพย์สินเป็นกลไก เพื่อให้ผู้มีสิทธิรับซะกาต สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้อย่างปกติสุข (ศุภชัย สมันตรัฐ. 2548. “การพัฒนาการบริหารสวัสดิการซะกาตของชาวไทยมุสลิมจังหวัดสตูล” วิทยานิพนธ์หลักสูตรสังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต (การบริหารและนโยบายสวัสดิการสังคม) คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. น. 16) ในขณะที่ เจตนาของการจ่ายซะกาต คือ การชำระจิตใจให้บริสุทธิ์จากความตระหนี่ ซึ่งเป็นโรคที่เป็นภัยต่อความเจริญทางจิตใจของสังคมมนุษย์ ซะกาตจึงเป็นสิ่งชำระล้างสังคมให้บริสุทธิ์จากการขัดแย้งระหว่างคนรวยกับคนจน ซึ่งนอกจากจะเป็นการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ต่อสังคมส่วนรวมอีกด้วย พระเจ้าทรงสร้างมนุษย์มาด้วยความแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความสามารถแตกต่างกัน ที่ทำให้รายได้ของแต่ละคนแตกต่างกันตามไปด้วย อิสลามไม่ต้องการให้ความแตกต่างด้านความสามารถ ด้านรายได้นี้ นำไปสู่ความแตกต่างด้านชนชั้น จนเกิดความขัดแย้งขึ้นจากความแตกต่างนั้น คนรวยไม่ใส่ใจคนยากจน มองดูด้วยสายตาเหยียดหยาม ในขณะที่คนยากจนมองคนรวยด้วยสายตาแห่งความอิจฉา และมีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น อิสลามไม่ต้องการให้มีสถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นในสังคม ดังคำกล่าวของท่านศาสดามุฮัมหมัดความว่า “คนใดกินจนท้องอิ่ม แล้วปล่อยให้เพื่อนบ้านหิวโหย คนนั้นมิใช่มุสลิม” (รายงานโดยบุคอรีและมุสลิม) ซึ่งคำกล่าวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความปรารถนาที่จะให้คนในสังคมใช้ชีวิตอย่างเกื้อกูลกัน

นอกจากนี้สิ่งที่ยืนยันความสำคัญของซะกาตในฐานะที่เป็นโครงสร้างสำคัญ 1 ใน 5 ของอิสลาม คือ ซะกาตมีการกล่าวถึงในอัลกุรอ่านควบคู่กับการละหมาด จำนวนหลายประโยค นั่นแสดงให้เห็นว่า เป็นบทบัญญัติที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะละหมาดเป็นหลักปฏิบัติเพื่อพระเจ้า เป็นเสาหลักของศาสนา ในขณะที่ซะกาตเป็นหลักปฏิบัติเพื่อมนุษย์ (ท่านญิบรีล (เทวทูตของพระเจ้า) ได้มาถามท่านนบี ศ็อลฯ (ศาสดา) ว่าอิสลามคืออะไร ท่านนบี ศ็อลฯ ตอบว่า “อิสลามคือการปฏิญาณตนว่าไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากอัลลอฮ และมุฮัมมัดเป็นรสูลแห่งอัลลอฮ การดำรงนมาซ การบริจากซะกาต การถือศีลอดในเดือนรอมฎอน และการทำฮัจย์” รายงานโดย บุคอรี-มุสลิม)

คณะทำงานการกระจายรายได้ สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2550, น.13)ได้มีการแบ่งรูปแบบสวัสดิการเป็น 4 ฐาน ซึ่ง ซะกาต ถือเป็นสวัสดิการฐานชีวิตวัฒนธรรม  ซึ่งถือเป็นสวัสดิการพื้นฐานของชีวิต  ในขณะที่  ระพีพรรณ  คำหอม (2545, น. 273) ได้ กล่าวถึง “ซะกาต” ในความหมายที่ใกล้เคียงกัน คือ เป็น “สวัสดิการพื้นถิ่น” ที่เกิดจากฐานคิดทางศาสนา  เป็นสวัสดิการเชิงวัฒนธรรมที่ไม่ได้ปรากฏรูปแบบชัดเจนให้คนภายนอกได้เข้าใจมากนัก ดังนั้น จึงไม่ ใช่เรื่องแปลกที่คำว่า “ซะกาต” จะไม่ใช่คำที่คุ้นเคยนักสำหรับศาสนิกอื่นที่มิใช่มุสลิม   แต่เป็นสิ่งที่ผู้ศรัทธาในอิสลาม ต้องปฏิบัติตามข้อบังคับของศาสนา  เนื่องจากเป็นหนึ่งในห้าข้อปฏิบัติที่มุสลิมต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้  “ซะกาต”  จึงถือเป็นการยืนยันการศรัทธาด้วยการปฏิบัติสำหรับมุสลิมทั่วโลก มิใช่เพียงชุมชนมุสลิมภาคใต้ของประเทศไทยเท่านั้น

 

 

เนื้อหาบางส่วนจาก: “ระบบซะกาต (ทานบังคับ) : เศรษฐกิจชุมชนในอิสลาม” โดย วรรณวดี พูลพอกสิน ซึ่งนำเสนอในการประชุมเสวนาวิชาการ

เรื่อง พหุลักษณ์สวัสดิการสังคมไทย – 24 มค. 51 คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร

 

Leave a Reply

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  Change )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  Change )

Connecting to %s