หลักชะรีอะฮ์ กรอบการเงินอิสลาม
หลักชะรีอะห์(Shariah Law) หรือกฎหมายอิสลาม
หมายถึง “หลักธรรมอันเป็นข้อกำหนดต่างๆในชีวิตมนุษย์ ซึ่งอัลลอฮ์ (พระผู้เป็นเจ้า) ประทานเป็นธรรมบัญญัติให้มนุษย์ปฏิบัติตาม ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ในทุกๆด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อ การกระทำ หรือเกณฑ์จริยธรรมสำหรับมนุษย์” ทั้งนี้ หลักธรรมอันเป็นข้อกำหนดต่างๆที่กล่าวถึงประกอบขึ้นมาจากแหล่งอ้างอิงสำคัญ 4 แหล่ง คือ
- คัมภีร์อัล-กุรอาน
- คำสอน การปฏิบัติ และการเห็นชอบของท่านศาสดามูฮัมมัด ซ.ล. (อัล-ฮะดีษหรืออัส-ซุนนะฮ์)
- ความเห็นอันเป็นเอกฉันท์ของนักวิชาการ (อัล-อิจญมาอ์)
- การเทียบเคียงกรณีใหม่ๆ เข้ากับกรณีเดิมที่ปรากฏอยู่ในคำสอนทางศาสนา ที่มีมูลเหตุเดียวกัน หรือ ธรรมชาติของกรณีนั้นๆ ที่เหมือนกันในทางชะรีอะฮ์ (การเทียบเคียงดังกล่าวเรียกว่า อัล-กิยาส) สำหรับธุรกรรมของการลงทุนในหุ้น อาจหมายถึง กฏเกณฑ์ ข้อบังคับ มาตรฐานและแนวทางปฏิบัติของศาสนาอิสลามที่บังคับใช้กับธุรกรรมทางการเงิน ที่ได้มาจากการกิยาสแล้ว
ตามทัศนะอิสลามถือว่าศาสนาคือแนวทางการดำเนินชีวิต ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่ครอบคลุมและมีความบริบูรณ์ในทุกด้านและทุกมิติของชีวิตตั้งแต่เกิดจนตาย ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องมีกฎหมายรองรับ
หลักชะรีอะฮ์หรือ กฎหมายอิสลามจึงเสมือนระเบียบ ข้อบังคับ บทบัญญัติ ซึ่งกำหนดมาเพื่อใช้บังคับความประพฤติของมุสลิมในรัฐหรือประเทศนั้นให้ปฏิบัติตาม เพื่อให้เกิดความสงบสุขในสังคม หากผู้ใดฝ่าฝืนจะได้รับผลอย่างใดอย่างหนึ่งตามกฎหมายและมีผลต่อโลกหน้า
ดังนั้นองค์ประกอบของระบบการเงินอิสลาม (Islamic Finance) ในด้านต่างๆ จะมีพื้นฐานมาจากกฎหมายอิสลามหรือชะรีอะฮ์ เพื่อการดำเนินธุรกิจหรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องจะให้เป็นไปตามหลักการของศาสนาอิสลาม
การดำเนินงานของการเงินอิสลาม(Islamic Finance) รวมถึงการทำธุรกิจต่างๆ ของมุสลิมด้วยต้องอยู่ภายใต้กรอบของหลักชะรีอะฮ์ หรือกฏหมายอิสลามด้วยเช่นกัน
ระบบการเงินอิสลาม(Islamic Finance System) คือ ระบบการการเงินที่อยู่ภายใต้กรอบหลักศาสนาอิสลาม หรือ หลักชะรีอะฮ์ (Shariah Law) ในการทำธุรกรรมใดๆ หลักชะรีอะฮ์ (Shariah Law) หรือกฎหมายอิสลามนั้นนำไปใช้กับทุกๆด้านของชีวิตชาวมุสลิม รวมทั้งด้านการเงิน
ระบบการเงินอิสลาม เป็นระบบการเงินทางเลือกจากระบบทั่วไป Conventional Finance ซึ่งมีพื้นฐานจากดอกเบี้ย ซึ่งเป็นข้อห้ามหลักทางศาสนาอิสลาม เนื่องจากมีผู้นับถือศาสนาอิสลามมากกว่า 2 พันล้านคนในโลกปัจจุบัน ตลาดการเงินอิสลามทั่วโลกมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดเนื่องจากชาวมุสลิมต้องการบริการด้านการเงินที่สอดคล้องกับความหลักศาสนาอิสลาม
ปัจจุบันระบบการเงินอิสลามมีธุรกิจที่หลากหลายให้เป็นทางเลือกแก่มุสลิมในการรับบริการทางการเงินมากมายอาทิ เช่น
- ธนาคารอิสลาม (Islamic Banking)
- การลงทุนตามหลักอิสลาม (Islamic Investments)
- ตลาดเงินตลาดทุนอิสลาม (Islamic Capital Market)
- ตะกาฟูล (Takaful) หรือการประกันภัยแบบอิสลาม
- การวางแผนทางการเงินอิสลาม (Islamic Financial Planning)
โดยมีข้อห้ามหลักๆ ในเรื่องการเงินอิสลามเบื้องต้น ดังนี้
- ข้อห้ามเรื่องริบา หรือ ดอกเบี้ย (Riba)
- ข้อห้ามเรื่องความไม่โปรงใส (Gharar)
- ข้อห้ามเรื่องการพนัน (Maisir)
- ข้อห้ามเรื่องธุรกิจบาป หรือธุรกิจที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ สุรา สิ่งมึนเมาธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร เลือดสัตว์ สิ่งที่น่ารังเกียจหรือนะยิส ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง เช่น คาสิโน การพนัน โรงภาพยนตร์ ดนตรี สื่อลามก และธุรกิจบันเทิงในโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบบุหรี่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ เป็นต้น