การคัดเลือกหุ้นในการลงทุนแบบอิสลาม

หุ้นสามัญ หรือ Common Stock คือ หลักทรัพย์ที่แสดงความเป็นเจ้าของส่วนหนึ่งในบริษัท ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงตามผล ประกอบการของบริษัทและภาวะตลาด การลงทุนในหุ้นสามัญตรงกับหลักการมุซาเราะห์กะฮ์ (Musharakah) ของอิสลาม คือ การเป็นหุ้นส่วน โดยร่วมกันเป็นเจ้าของกิจการ เมื่อกิจการมีกำไรจะนำผลกำไรมาแบ่งให้กับเจ้าของในรูปแบบของเงินปันผล (Dividend) นอกจากเงินปันผลแล้วมีผลตอบแทนจากการลงทุนคือ กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์ (Capital gain) อันเนื่องมาจากการขายหลักทรัพย์ ด้วยราคาที่สูงกว่าราคาทุนที่ซื้อมา อันเนื่องมากจากมีแนวโน้มเป็นกิจการที่ดีและมีกำไรต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามความเสี่ยงในการลงทุนในหุ้นคือการเลือกซื้อหุ้นในกิจการที่ขาดทุนหรือมีแนวโน้มที่ไม่ดี อาจจะทำให้ผู้ถือหุ้นต้องขายหุ้นออกไปในราคาที่ต่ำกว่าราคาทุนที่ซื้อมาก็เป็นได้ (Capital Loss) ซึ่งเหมือนกับการซื้อขายสินค้าอื่นๆ ด้วยหลักการ มุรอบาฮะห์ (Murabahah) หากสินค้าที่ดี ตลาดมีความต้องการสูงก็สามารถขายได้ด้วยราคาที่สูงกว่าต้นทุน แต่ถ้าหากสินค้าไม่ดี ตลาดไม่เป็นที่นิยมก็ย่อมมีความเสี่ยงที่จะต้องขายได้ในราคาที่ต่ำกว่าราคาทุนนั้นเอง ซึ่งหลักการของความเสี่ยงจากการค้าขายนั้น สอดคล้องกับหลักการของอิสลามในเรื่องของ Al- ghorm bil ghonm (no reward without risk) ไม่มีผลตอบแทนหากไม่มีความเสี่ยงในธุรกิจ เฉกเช่นเดียวกันการลงทุนธุรกิจต่างๆ โดยหลักการลงทุนตามหลักศาสนาอิสลามนั้นโดยจะต้องไม่ขัดกับหลักการชะรีฮะห์ดังต่อไปนี้
ห้ามลงทุนในธุรกิจหลักมีรายได้จากริบา(Riba)หรือดอกเบี้ย ดังนั้นมุสลิมจึงไม่สามารถที่จะซื้อหุ้นสามัญของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ รวมถึงบริษัทเช่าซื้อต่างๆ ซึ่งมีรายได้หลักจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากการกู้ยืม และนอกจากนี้การเปิดบัญชีเพื่อจะทำการซื้อขายหุ้นนั้นห้ามทำการเปิดบัญชีแบบมาร์จิ้น (Margin) คือ บัญชีที่ต้องมีการจ่ายดอกเบี้ยให้บริษัท Broker ที่เปิดบัญชีเพราะเป็นบัญชีแบบกู้ยืม โดยใช้เงินสดบางส่วนเท่านั้น
ห้ามลงทุนในธุรกิจหลักมีรายได้จากความไม่แน่นอน(Gharar) ดังนั้นนักลงทุนมุสลิมจึงไม่สามารถซื้อหุ้นสามัญของบริษัทประกันภัยทั่วไป ที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ได้ เพราะธุรกิจประกันภัยทั่วไป นั้นมีความไม่แน่นอนในเรื่องของการการเคลมประกัน ซึ่งเราไม่ทราบว่าจะเกิดความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุขึ้นเมื่อใด โดยที่ผู้ซื้อประกันจะต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันทุกๆเดือน เป็นธุรกิจที่ก่อให้เกิดการเอาเปรียบแก่ผู้ซื้อประกัน
ห้ามลงทุนในธุรกิจหลักมีรายได้จากการพนัน(Maisir) ดังนั้นอิสลามจึงห้ามการลงทุนที่เข้าข่ายการพนัน เช่น การเข้าซื้อหุ้นโดยขาดการวิเคราะห์พื้นฐานของกิจการ (Fundamental Analysis) หรือการวิเคราะห์ด้านเทคนิด (Technical analysis) เป็นการลงทุนแบบปราศจากการวิเคราะห์และความรู้ ซึ่งเป็นการลงทุนแบบความเสี่ยงสูง (High risk) เรียกว่าเหมือนการเสี่ยงดวงออกหัวออกก้อย เช่นเดียวกับการพนัน รวมถึงห้ามซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพนัน เช่น บริษัทลอตเตอรี่ออนไลน์ บริษัทที่ให้บริการเครื่องเล่นเสี่ยงโชค เป็นต้น
ห้ามลงทุนที่เกี่ยวข้องกับดำเนินธุรกิจขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ สุรา สิ่งมึนเมาธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร เลือดสัตว์ สิ่งที่น่ารังเกียจหรือนะยิส ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง เช่น คาสิโน การพนัน โรงภาพยนตร์ ดนตรี สื่อลามก และธุรกิจบันเทิงในโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบบุหรี่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ เป็นต้น
หุ้นฮาลาล คือ หุ้นที่สามารถลงทุนและซื้อขายได้ตามหลักการศาสนาอิสลาม เป็นการลงทุนในบริษัทที่คณะกรรมการชะรีอะฮ์ได้กลั่นกรองแล้วจากจำนวนบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด ทางคณะกรรมการชะรีอะฮ์ จะมีการทบทวนอยู่เสมอ ซึ่งหากปรากฏว่าบริษัทใดที่ไม่เป็นไปตามหลักชะรีอะฮ์ ก็จะยกเลิกการรับรอง ไม่อยู่ใน List ชื่อหุ้นตามหลักชะรีอะฮ์
ตัวอย่างการให้บริการในประเทศไทยของ KTBST-islamic การรับรองของคณะกรรมการชะรีอะฮ์นั้น จะใช้หลักเกณฑ์สากลของ SC MALAYSIA 2012 และ SC MALAYSIA 2013 และ AAOIFI ซึ่งพิจารณาทั้งกิจกรรมการดำเนินงานและงบการเงิน ตามโครงสร้างการพิจารณา ดังในรูป

การคัดกรองกิจกรรมการดำเนินธุรกิจของบริษัท (Business Activity Screening) ว่าไม่ได้ดำเนินการขัดต่อหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งจะต้องเข้าไปดูรายละเอียดในแต่ละบริษัทและบริษัทในเครือด้วย เบื้องต้นจะต้องไม่ใช่ธุรกิจบาปดังนี้
1)Conventional Financeเช่น ธนาคาร สถาบันการเงินหรือประกันภัยที่ไม่ได้ดำเนินธุรกิจตามหลักศาสนาอิสลาม 2) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ (Alcohol) 3) ธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกร ซึ่งไม่เป็นอาหารฮาลาล (Halal) 4) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง ไม่ว่าจะเป็นคาสิโน การพนัน โรงภาพยนตร์ ดนตรี สื่อลามก รวมทั้งธุรกิจโรงแรม 5) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ 6) ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ 7) ธุรกิจต้องห้ามอื่นๆ ตามความเห็น หรือฟัตวาของคณะกรรมการชะรีอะฮ์ การคัดกรองจากข้อมูลทางการเงิน (Financial ratios screening) เป็นการกำหนดอัตราส่วนทางการเงินขึ้นมาจากการเทียบเคียง (กิยาส) จากหลักฐานกรุอ่านและหะดิษ ซึ่งเป็นไปตามหลักของชะรีอะห์ การลงทุนในหุ้นสามัญของนักลงทุนมุสลิมซึ่งลงทุนโดยไม่ได้พิจารณาตามหลักชะรีอะฮ์ อาจจะลงทุนในธุรกิจที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่น ธุรกิจหลักจำหน่ายหรือเกี่ยวข้องกับสุรา ดอกเบี้ย (ริบา) การพนัน สุกร หรือสิ่งฮารอมต่างๆ ซึ่งล้วนเป็นการลงทุนที่เป็นบาป แต่การลงทุนในหุ้น ตามหลักชะรีอะฮ์ นั้น มีกระบวนการการกลั่นกลอง บริษัทจดทะเบียน โดย คณะกรรมการชะรีอะฮ์ ว่าหุ้นของบริษัทใดสามารถลงทุนได้ ตามหลักชะรีอะฮ์ และหุ้นอะไรบ้างที่ไม่สามารถลงทุนได้ตามหลักชะรีอะฮ์ โดยอาศัยกฏเกณฑ์ศาสนาอิสลาม ตามหลักการอัล-กรุอาน ((القرآن อัส-ซุนนะฮ์ ( السنة) มติเอกฉันท์ หรือ อัล-อิจมาอฺ (الإجماع)และ การเทียบเคียง หรือ อัล-กิยาส (القياس)
หุ้นที่ไม่ฮาลาล คือ หุ้นที่ไม่ผ่านการรับรองคณะกรรมการชะรีอะฮ์ อันเนื่องมาจากบริษัทจดทะเบียนนั้นๆ ทำธุรกรรมข้องเกี่ยวกับสิ่งต้องห้ามตาม ศาสนบัญญัติ ตามหลักเกณฑ์ทางชะรีอะฮ์ เช่น หุ้นในกลุ่มสุรา หุ้นในกลุ่มการพนัน หุ้นในกลุ่มธุรกิจบันเทิง หุ้นในกลุ่มธนาคาร ซึ่งมุสลิมไม่สามารถลงทุนได้ หรือหุ้นที่งบการเงินไม่ผ่านตามหลักเกณฑ์ชะรีอะฮ์
หัวข้ออื่นๆที่เกี่ยวข้อง
KTBST-ISLAMIC ปี 2020 โตสามเท่า ดันยอดเทรดหุ้นฮาลาลสี่ปี เฉียดสี่หมื่นล้าน
หุ้นฮาลาล หรือ หุ้นตามหลักชะรีอะฮ์
การกำหนดราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์
