ตราสาร“ศุกูก” (Sukuk) หรือตราสารหนี้อิสลาม คืออะไร?
ตราสาร “ศุกูก” (Sukuk) มาจากภาษาอาหรับ صكوك แปลว่า ใบรับรองทางการเงิน(Financial Instruments) ตราสาร “ศุกูก” (Sukuk) หรือตราสารหนี้อิสลาม ซึ่งเป็นตราสารการเงินที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ไม่อยู่ในรูปของดอกเบี้ยไม่เกี่ยวพันกับธุรกิจต้องห้ามต่างๆ และผลตอบแทนจากการลงทุนก็มาจากการมีส่วนร่วมในธุรกรรมและรับความเสี่ยงร่วม กัน เช่น การให้เช่าทรัพย์สิน ว่าจ้างทำของ ว่าจ้างให้บริหารจัดการเงินลงทุน ฯลฯ ซึ่งเป็นไปตามหลักชาริอะห์ (Shariah) ของศาสนาอิสลาม ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ลงทุนในประเทศอิสลามที่มีข้อจำกัดในการลงทุนไม่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ปกติหรือลงทุนในสิ่งที่ขัดกับหลักศาสนาก็จะมีช่องทางในการลงทุนที่ตรงกับความต้องการได้ศุกูกไม่เพียงแต่จะตอบโจทย์ความต้องการลงทุนของชาวมุสลิมเท่านั้น ยังเป็นทางเลือกการลงทุนที่น่าสนใจสำหรับผู้ลงทุนทั่วไปด้วย
หลักศาสนาอิสลามกำหนดห้ามลงมุนกับธุรกิจต้องห้ามหรือฮารอม(Haram) ดอกเบี้ยหรือริบา(Riba) ความไม่แน่นอน(Gharar) และการพนัน(Maisir) ซึ่งเป็นข้อห้ามหลักของการเงินอิสลาม ตัวอย่างเช่น
การผลิตสินค้า ที่เกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด สื่อและสิ่งพิมพ์ที่ใช้ภาพเปลือย การพนัน สุกร
การค้า ที่เกี่ยวกับการค้าปลีกหรือค้าส่ง การค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สิ่งเสพติด สื่อและสิ่งพิมพ์ที่ใช้ภาพเปลือย การพนัน สุกร
การบริการ เกี่ยวกับบ่อนการพนัน สถาบันการเงินที่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ย บริษัทประกัน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการลงทุนในดอกเบี้ย ผับ บาร์ สนามม้า
และด้วยข้อกำหนดข้างต้นนี้เองจึงทำให้มุสลิมไม่สามารถลงทุนในตราสารหนี้ทั่วไปเช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือหุ้นกู้ของบริษัทต่างๆ ได้ เนื่องจากมีการจ่ายรายได้เป็นดอกเบี้ยนั้นเอง
อย่างไรก็ตามในระบบเศรษฐกิจก็ย่อมมีทั้งผู้มีเงินออมส่วนเกิน และผู้ต้องการเงินลงทุน และเพื่อให้คนทั้งสองฝ่ายมาพบกันได้ หลักชะรีอะห์หรือกฏหมายอิสลามจึงมีช่องทางในการระดมทุนในรูปของการเป็นหุ้นส่วนหรือการร่วมระดมทุน (Venture Capital) ซึ่งถือเป็นการร่วมดำเนินธุรกิจและแบกรับความเสี่ยงร่วมกัน
ตราสารศุกูก เป็นตราสารแสดงสิทธิในการได้รับผลตอบแทนจากการเป็นเจ้าของสินทรัพย์ ซึ่งผลตอบแทนที่ผู้ถือตราสารได้รับจะอยู่ในรูปค่าเช่า ค่าผ่อนชำระ หรือส่วนแบ่งกำไร แต่ห้ามรับเป็นดอกเบี้ยเด็ดขาด และเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นขอเปรียบเทียบข้อแตกต่างระหว่างตราสารหนี้โดยทั่วๆไปและตราสารศุกูก
ที่ผ่านมาตลาดการเงินอิสลามมีการเติบโตเป็นอย่างมากโดยเติบโตสูงกว่าตลาดทุนโดยรวมเสียอีกเนื่องจากชาวมุสลิมส่วนใหญ่อยู่ในประเทศตะวันออกกลาง ซึ่งเป็นประเทศร่ำรวยจากการส่งออกน้ำมัน และมีความต้องการลงทุนตามหลักศาสนา ประเทศมาเลเซียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่เป็นผู้นำตลาดการเงินอิสลาม โดยในช่วงปี 2548 -2555 มูลค่าตลาดการเงินอิสลามเติบโตขึ้นเฉลี่ย 20% ต่อปี และพัฒนาการอีกประการหนึ่ง ก็คือ หลายๆประเทศที่ไม่ใช่ประเทศมุสลิม เริ่มให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดการเงินอิสลามมากขึ้น อาทิ สิงค์โปร และฮ่องกง
ด้วยเหตุนี้เองแผนพัฒนาตลาดทุนของประเทศไทยจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนาตลาดการเงินอิสลาม โดยปัจจุบัน กลต. หรือ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ได้มีประกาศอนุญาตให้สามารถระดมทุนโดยการออกตราสารศุกูกในประเทศไทยได้ ในปี 2552 และล่าสุดเมื่อปลายปี 2555 กลต. ได้ประกาศยกเว้นภาษี ต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคต่อการออกตราสารศุกูก เพื่อมุ่งหวังดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศโดยเฉพาะจากประเทศมุสลิม