บัยอฺ อัล มุอาฏอฮฺ (Bai al mu’ atah)
บัยอฺ อัล มุอาฏอฮฺ (Bai al mu’ atah)( بيع المعاطاة ) เป็นการซื้อขายที่เราจะเห็นได้เป็นประจำในการใช้ชีวิตในทุกวันนี้ คือ การที่ผู้ซื้อ(buyer) เลือกหยิบสินค้าจากแผงโชว์สินค้า(Invitation to treat) โดยที่สินค้านั้นมีป้ายราคาแสดงไว้เรียบร้อยแล้ว ผู้ซื้อจึงนำเงินไปจ่ายให้แก่ผู้ขายตามป้ายราคานั้นที่จุดชำระเงิน จะเห็นได้ว่าการซื้อขายในรูปแบบนี้ไม่มีการทำคำการเสนอขาย(Ijab) และสนองรับ(Qabuul) เป็นคำพูดตามองค์ประกอบหลักการซื้อขายทั่วไปของอิสลาม
บัยอฺ อัล มุอาฏอฮฺ (Bai al mu’ atah) มีการโชว์สินค้า(Invitation to treat) พร้อมด้วยป้ายราคา การเสนอขาย (Ijab) และ การสนองรับ(Qabuul) ด้วยกับการกระทำการที่ผู้ซื้อนำเงินมาจ่ายเท่ากับป้ายราคาของสินค้าที่ต้องการจะซื้อตามป้ายราคาของสินค้านั้นๆ ที่จุดชำระเงิน และการซื้อขายเกิดขึ้นเมื่อมีการชำระเงินเรียบร้อยแล้ว
ตามความเห็นส่วนใหญ่ในมัซฮับชาฟีอีย์นั้นเห็นว่า ผู้ซื้อขายทั้งสองฝ่ายจะต้องกล่าวถ้อยคำเสนอขายและคำสนองรับบัยอฺ อัล มุอาฏอฮฺ (Bai al mu’ atah)จึงถือว่าใช้ไม่ได้ตามแนวทางดังกล่าวแต่นักวิชาการบางท่านในมัซฮับชาฟีอีย์ถือว่าการซื้อขายแบบบัยอฺ อัล มุอาฏอฮฺ (Bai al mu’ atah) มีผลใช้ได้กับสินค้าที่มีราคาเล็กน้อย
อย่างไรก็ตามท่านอันนะวาวีย์ (ร.ฮ.) นักวิชาการสังกัดมัซฮับชาฟีอีย์มีความเห็นว่าบัยอฺ อัล มุอาฏอฮฺ (Bai al mu’ atah) ถือว่าใช้ได้ ไม่ว่าสินค้านั้นจะมีราคาน้อยหรือมากก็ตามหากมีประเพณีนิยมกระทำกันในสังคมนั้นๆ ความเห็นของอันนะวาวีย์ (ร.ฮ.) นี้เป็นสิ่งที่ทำให้ได้รับความสะดวกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคปัจจุบันที่การซื้อขายแบบบัยอฺ อัล มุอาฏอฮฺ (Bai al mu’ atah) เป็นที่นิยมแพร่หลายจนเกือบจะไม่พบว่าผู้ซื้อผู้ขายกล่าวถ้อยคำตกลงซื้อขายระหว่างกัน ตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป เช่น เซเว่น อีเลฟเว่น(7-11) หรือ แฟมมิลี่ มาร์ท (Family Mart) เป็นต้น หรือ ตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป เช่น บิ๊กซี โลตัส วิลล่า ฟู๊ดแลนด์ เป็นต้น
อ้างอิงเนื้อหาบางส่วนจากการบทความของ อ.อาลี เสือสมิง
