การทำให้รายได้บริสุทธิ์ตามหลักศาสนาอิสลาม (Islamic Income Purification)
การทำให้รายได้บริสุทธิ์ตามหลักศาสนาอิสลาม (Islamic Income Purification)
การทำให้รายได้หรือทรัพย์สินของมุสลิมเรานั้น สะอาดหรือบริสุทธิ์(Income Purification) ตามหลักศาสนาอิสลามนั้น แบ่งออกเป็นสองส่วน คือ การจ่ายซากาต (Zakat) และการบริจาคเงินที่ฮารอม (HARAM) ที่ไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ซึ่งเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนที่จะต้องรักษารายได้หรือทรัพย์สินของเราให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่อจะได้เกิด บารอกัตหรือสิริมงคลกับการใช้ชีวิตและการทำอิบาดะห์นั้นจะได้รับการตอบรับและตอบแทนจากพระองค์อัลลอฮฺ หากรายได้หรือทรัพย์สินนั้นไม่บริสุทธิ์ มีรายได้หรือเงินที่ได้จากธุรกรรมที่ผิดหลักศาสนาหรือไม่ได้มีการจ่ายซะกาตแก่ผู้มีมีสิทธิได้รับซะกาต และหากนำเงินหรือทรัพย์สินที่สะอาดหรือบริสุทธิ์ไม่มาใช้อุปโภคบริโภค อันเป็นเหตุทำให้การทำอิบาดะห์ต่างๆไม่ถูกตอบรับจากพระผู้เป็นเจ้าดังพระมหาคำภีร์อัลกรุอ่าน ความว่า
“และ (นบีมุฮัมมัด) จะอนุมัติให้แก่พวกเขา (ประชาชาติ) สิ่งที่ดีๆทั้งหลาย และจะให้เป็นที่ต้องห้ามแก่พวกเขาซึ่งสิ่งที่เลวทั้งหลาย”อัลอะอฺรอฟ อายะห์ 157
การจ่ายซะกาตให้กับบุคคล 8 จำพวก
ซะกาต แปลว่า การทำให้สะอาดบริสุทธิ์ (Purification) และการเจริญเติบโตเรื่องซะกาตนั้นเป็นเรื่องเดียวในรุก่น 5 ประการ (หลักบัญญัติ) ของอิสลาม ที่เกี่ยวกับทรัพย์สินหรือการเงิน ดังนั้นการจ่ายซะกาต จะทำให้ทรัพย์สินของมุสลิมนั้นมีความบริสุทธิ์(Purification) เพราะซะกาตเป็นสิทธิ์ของบุคคลที่ถูกกำหนดให้มีสิทธิรับซะกาตได้เท่านั้น ไม่ได้เป็นสิทธิของเจ้าของทรัพย์ หากไม่มีการจ่ายซะกาตตามที่กำหนดถือว่าผู้ที่มีหน้าที่จ่ายซะกาตนั้นได้ยักยอกทรัพย์สินของอัลลอฮฺและของผู้ที่มีสิทธิ์รับซะกาตทั้งหมด ซึ่งคัมภีร์อัลกุรอานได้กำหนดไว้ซะกาตนั้นถือเป็นภาระหน้าที่สำหรับผู้มีทรัพย์สินครบตามเงื่อนไขซึ่งจำเป็นต้องจ่ายให้กับผู้ที่มีสิทธิและมีคุณสมบัติจะได้รับมัน อัลลอฮฺ ซ.บ. ได้ตรัสในอัลกุรอานว่า
ความว่า “และบรรดาผู้ที่ในทรัพย์สินของพวกเขามีส่วนที่ถูกกำหนดไว้ สำหรับผู้ที่เอ่ยขอและผู้ที่ไม่เอ่ยขอ” (อัล-มะอาริจญ์ 24-25)
ผู้มีสิทธิรับซะกาต
1.คนยากไร้ (ฟากีร) ได้แก่ คนที่ไม่มีทรัพย์ ไม่มีค่าเลี้ยงชีพ หรือมีแต่ไม่เพียงพอในการเลี้ยงชีพ คนประเภทนี้สามารถรับซะกาตได้ตลอดปี
2. คนขัดสน (มิสกีน) ได้แก่ คนที่มีค่าเลี้ยงชีพในแต่ละวันครึ่งหนึ่ง หรือมากกว่า แต่ไม่เพียงพอ คนประเภทนี้จะฐานะดีกว่าคนยากไร้ และสามารถรับซะกาตได้ตลอดปีเช่นกัน
3.เจ้าหน้าที่ซะกาต ได้แก่ เจ้าหน้าที่ พนักงาน ที่ทำหน้าที่ เก็บรวบรวมซะกาต และแจกจ่ายซะกาตแก่ผู้มีสิทธิรับซะกาต บุคคลประเภทนี้รับซะกาตได้ เพียงอัตราค่าจ้างของเขาเท่านั้น
4.ผู้ถูกดลใจให้เข้ารับอิสลาม บุคคลประเภทนี้มี 2 จำพวก
จำพวกแรก : ผู้ที่ยังไม่ใช่มุสลิม คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้ในกรณีที่เพื่อให้เขาเข้ารับอิสลาม หรือให้เพื่อยับยั้งป้องกันภัยในสังคมมุสลิมอันเกิดจากน้ำมือของเขา
จำพวกที่สอง : ผู้ที่เข้าอิสลามแล้ว คนจำพวกนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาเพื่อเป็นการยึดเหนี่ยวเขาให้ยืนหยัดในอิสลามได้อย่างมั่นคง หรือหวังในการเข้ารับอิสลามของคนใกล้ชิด และพวกพ้องของเขาเป็นต้น.
5. ผู้ไร้อิสรภาพ ได้แก่ ทาสที่นายอนุมัติให้ไถ่ตัวเองได้ ทาสประเภทนี้ สามารถมอบซะกาตให้เขาได้ เพื่อให้เขาเป็นอิสรภาพ ซึ่งเขาสามารถรับซะกาตได้เพียงจำนวนทรัพย์ที่ขาดในการไถ่ตัวเองเท่านั้น และได้มีนักวิชาการบางกลุ่มให้ทัศนะว่า สามารถใช้ทรัพย์ซะกาตซื้อตัวทาสผู้นั้นเพื่อการปลดปล่อยได้เช่นกัน.
6. คนมีหนี้สิน มี 2 ลักษณะด้วยกันคือ
–ลักษณะแรก: ผู้เป็นหนี้สินของตัวเอง: ได้แก่ ผู้ที่หยิบยืมทรัพย์สินจากผู้อื่นเพื่อกิจการส่วนตัวของเขา และไม่มีลู่ทางที่จะใช้หนี้สินนั้นได้ คนลักษณะนี้ สามารถรับซะกาตได้เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น
–ลักษณะที่สอง: ผู้เป็นหนี้สินให้ผู้อื่นได้แก่: บุคคลที่กู้ยืมเพื่อขจัดปัญหาในสังคม คนลักษณะนี้ สามารถรับซะกาตได้ เพื่อใช้ชำระหนี้ดังกล่าวเท่านั้น ถึงแม้ว่าเขาจะมีฐานะร่ำรวยก็ตาม.
7. ในวิถีทางของอัลลอฮฺ หมายถึง การรบในหนทางของอัลลอฮฺ (ซ.บ.) ดังนั้นแต่นักปราชญ์รุ่นหลังได้ขยายความว่าสามารถจ่ายซะกาตแก่ผู้ที่ดำเนินกิจกรรมต่างๆเพื่อเป้าประสงค์ในแนวทางของอิสลาม ซึ่งพวกเขาไม่ได้รับค่าเลี้ยงดูจากคลังของอิสลาม (บัยตุลมาล)
8. คนเดินทาง ได้แก่ ผู้ที่เดินทางออกจากถิ่นเดิมของเขา และขาดปัจจัยในการเดินทาง จนไม่สามารถกลับภูมิลำเนาเดิมได้ ดังนั้น คนประเภทนี้สามารถมอบซะกาตแก่เขาได้เพียงจำนวนที่ใช้เป็นปัจจัยเดินทางกลับภูมิลำเนาเท่านั้น
เงินบาปหรือรายได้ต้องห้าม(ฮารอม)
รายได้ที่ได้มาไม่ถูกต้องตามหลักชะรีอะห์ที่มุสลิมหรือธุรกิจของมุสลิมไม่สามารถที่จะนำมาใช้จ่ายหรือใช้ในการอุปโภคบริโภคได้ ถือเป็นเงินบาปหรือเงินฮารอม(HARAM) ตามหลักศาสนา ซึ่งมุสลิมจะต้องนำไปบริจาคเป็นสาธารณกุศล เช่น
-รายได้จากดอกเบี้ยรับจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ในกรณีที่มุสลิมหรือธุรกิจอาจะมีความจำเป็นจะต้องมีการทำธุรกรรมผ่านบัญชีของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป
-รายได้เงินปันผล(Dividend) หรือ ส่วนต่างกำไร (Capital Gain) จากการลงทุนในหุ้นสามัญ (Stock) หรือกองทุน (Fund) ที่อาจจะเข้าใจผิดว่ากิจการดำเนินการถูกต้องตามหลักหลักชะรีอะฮ์ (Shariah Compliant) เมื่อทราบ
–รายได้หรือเงินได้ที่เกิดจากธุรกรรมที่ผิดหลักชะรีอะฮ์ เช่น การพนัน การเล่นหวย การค้าขายสินค้าที่ผิดหลักศาสนา เช่น เหล้า สุรา อุปกรณ์การพนัน อุปกรณ์ดนตรี เงินที่ได้จากการฉ้อโกง การลักทรัพย์ เป็นต้น
การบริจาคเป็นสาธารณประโยชน์สำหรับเงินบาปหรือรายได้ต้องห้าม(ฮารอม)
การบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์ การบริจาคเพื่อประชาชนสามารถได้ประโยชน์ร่วมกัน หมายถึงไม่เจาะจงเอาประโยชน์นั้นไปให้แก่บุคคลคนหนึ่งคนใด ดังนั้นให้นำเงินบาปหรือรายได้ต้องห้าม(ฮารอม)ไปบริจาคหรือทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม อาทิเช่น ถนนสาธารณะ ติดไฟสาธารณะ สร้างสะพาน สร้างห้องน้ำหรือสุขาสาธารณะ เป็นต้น และไม่ควรมอบให้กับสถาบันหรือโครงการที่เกี่ยวกับศาสนา เช่น มัสยิด โรงเรียนศาสนา แต่กรณีที่อนุโลมให้นำเงินบาปหรือรายได้ต้องห้าม(ฮารอม)ไปให้แก่ผู้ประสบภัยคือกรณีที่ผู้ประสบภัยนั้นอยู่ในสภาวะผู้ที่มีความจำเป็น ถ้าไม่ได้รับเงินก้อนนี้อาจเสียชีวิตก็ได้ เปรียบเทียบกับผู้หิวถึงขั้นที่ถ้าไม่กินเนื้อหมูที่มีอยู่ชิ้นหนึ่งอาจเสียชีวิต ศาสนาก็อนุโลมให้กินเพื่อให้มีชีวิตอยู่ ตัวอย่าง แต่ต้องทราบว่าเงินบาปหรือรายได้ต้องห้าม(ฮารอม)ไม่มีผลบุญใดๆในการนำไปบริจาคเพื่อสาธารณประโยชน์
ตัวอย่างการทำรายได้บริสุทธิ์ตามหลักศาสนาอิสลาม (Islamic Income Purification)
เงินได้เก็บครบรอบปี 400,000 บาท
ดอกเบี้ยจากเงินฝากออมทรัพย์ 1, 500 บาท
เงินปันผลจากหุ้นที่ไม่ถูกหลักชะรีอะฮ์ 2, 000 บาท
เงินปันผลจากหุ้นที่ถูกหลักชะรีอะฮ์ 10, 000 บาท
จะเห็นได้ว่าหลังจากการทำรายได้บริสุทธิ์ตามหลักศาสนาอิสลาม (Islamic Income Purification) จะมีเงินเหลือเท่ากับ 413,500-10,250-3,500 = 399,750 บาท เป็นทรัพย์สินที่เป็นสิทธิของเจ้าของทรัพย์ และเป็นทรัพย์สินที่ปราศจากทรัพย์ที่ไม่บริสุทธิ์ที่เจ้าของทรัพย์สามารถนำไปใช้จ่ายได้โดยสมบูรณ์ตามหลักการของศาสนาอิสลาม
วัลลอฮุอะลัม เรียบเรียงโดย Muhammad Azmii Mahamad
หมายเหตุ ไม่สงวนลิขสิทธิ์ในการเผยแพร่บทความด้วยการอ้างอิงถึง
http://www.การเงินอิสลาม.com หรือ http://www.islamicfinancethai.com