โรงพยาบาลตามหลักอิสลาม ตอนที่ 2
“โรงพยาบาลอิสลามในประเทศไทย เป็นไปได้หรือไม่” หรือโรงพยาบาลอิสลาม ในตอนแรก ซึ่งเป็นการเกริ่นถึงความจำเป็นและโอกาสของธุรกิจโรงพยาบาล จนวันนี้โครงการนี้ก็ยังเป็นที่ต้องการอยู่ และกำลังถูกผลักดันให้เกิดจากองค์กรที่รับผิดชอบ (ขออุบไว้ก่อน) อย่างไรก็ตามโครงการนี้ยังเคาะไม่ได้ว่า โรงพยาบาลอิสลามในฝันของสังคมมุสลิมบ้านเรา จะออกมาหน้าตาเป็นอย่างไร บริหารจัดการอย่างไร เป็นธุรกิจเต็มรูปแบบหรือไม่ หรือเป็นโรงพยาบาลการกุศล ฉบับนี้เรามาหาคำตอบกัน
ขึ้นชื่อว่าโรงพยาบาลอิสลาม ซึ่งแน่นอนต้องอยู่ในรูปแบบโรงพยาบาลเอกชน เพราะภาคเอกชนเป็นเจ้าของ แต่คำว่าเอกชนเป็นเจ้าของก็มีอยู่ 2 รูปแบบ คือ เป็นองค์กรที่แสวงหากำไร กับองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งก็เป็นไปได้ทั้ง 2 รูปแบบ ซึ่งมีทั้งข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าโครงการซึ่งเป็นหลักหลายร้อยล้านบาท หากองค์กรที่เป็นเจ้าของ ระดมเงินทุนในรูปแบบเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว แน่นอนโรงพยาบาลดังกล่าวก็จะกลายเป็นองค์กรสาธารณกุศลที่ไม่แสวงหากำไร ซึ่งต้องอาศัยเงินบริจาคทั้งการก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ และทุกๆ ปีต้องขอเงินบริจาคเพื่อเป็นทุนหมุนเวียนในการให้บริการรักษาผู้ป่วย (นอกเหนือจากเงินอุดหนุนจากรัฐบาล สปสช. สปส.) การระดมเงินทุนบริจาคหลายร้อยล้านบาทเป็นเรื่องที่ยากและใช้เวลานาน ดังนั้นจึงไม่สามารถพิจารณาแค่เพียงเงินบริจาคเพียงอย่างเดียวได้ ทางเลือกอื่นๆ ได้แก่ การขายหุ้น และการขอสินเชื่อจากสถาบันการเงิน
หากระดมทุนด้วยการขายหุ้น แน่นอนโรงพยาบาลจะอยู่ในรูปของบริษัทที่แสวงหากำไร และเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบ ซึ่งก็คงไม่ตอบโจทย์ของพี่น้องมุสลิมทุกกลุ่ม โดยเฉพาะพี่น้องที่มีฐานะยากจน และที่สำคัญองค์กรที่เป็นเจ้าของโครงการก็คงไม่เลือกทางนี้ เนื่องจากไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งองค์กร และวัตถุประสงค์ของโรงพยาบาลที่ต้องการช่วยเหลือด้านการแพทย์กับสาธารณชน
แล้วจะทำอย่างไร เมื่อโรงพยาบาลต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล ทั้งค่าก่อสร้าง เครื่องมือแพทย์ และเงินทุนหมุนเวียน ครั้นจะทำเป็นโรงพยาบาลสาธารณกุศล ก็ติดเรื่องเงินบริจาคที่อาจไม่สามารถหาได้เพียงพอ เมื่อเปิดดำเนินการแล้วก็ต้องขอบริจาคเรื่อยไป มาตรฐานการบริการอาจไม่ดีเท่าที่ควร ธุรกิจไม่สามารถสร้างกำไรมาพัฒนาตัวเองได้ และอาจตอบโจทย์เฉพาะพี่น้องที่มีฐานะยากจน (คนที่มีฐานะปานกลางถึงร่ำรวย อาจไม่เลือกใช้บริการที่นี่ เนื่องจากอาจไม่มั่นใจในมาตรฐานการบริการ) ครั้นจะทำเป็นธุรกิจเต็มรูปแบบก็ดูจะเห็นแก่ตัวเกินไป ตอบโจทย์เฉพาะคนรวย และที่สำคัญเป็นการยากที่จะระดมเงินลงทุนด้วยการขายหุ้นเพียงอย่างเดียว
ฉะนั้นโครงการนี้จึงต้องอาศัยทั้ง เงินบริจาค และการขายหุ้น รูปแบบองค์กรจะเป็นลูกครึ่ง นั่นคือ “องค์กรธุรกิจที่ไม่เน้นกำไร” หรือ “องค์กรกึ่งไม่แสวงหากำไร” (Semi Non Profit) จดทะเบียนในรูปบริษัทโรงพยาบาล มีมูลนิธิเป็นผู้ถือหุ้นในนามผู้บริจาค และมีผู้ถือหุ้นทั่วไป เมื่อธุรกิจมีกำไร จะมีการแบ่งเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นทั่วไป และมูลนิธิ แต่มูลนิธิจะไม่นำเงินปันผลนั้นมาแบ่งกัน แต่จะนำไปพัฒนาต่อยอดโรงพยาบาล หรือการจัดตั้งกองทุนสาธารณกุศลเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน
ขอให้ขอมูลเพิ่มเติมว่า องค์กรที่เป็นมูลนิธิ สามารถที่จะแสวงหากำไรได้ แต่เป็นการหากำไรเท่าที่พออยู่ได้กับค่าใช้จ่าย นอกจากนั้นกำไรต้องไม่นำมาแบ่งกัน โดยจะต้องคืนสู่สาธารณะในรูปแบบต่างๆ เช่น การพัฒนาปรับปรุง การช่วยเหลือ การจัดตั้งกองทุน ฯลฯ
รูปแบบธุรกิจดังกล่าวจึงเป็นธุรกิจในฝันของคนรุ่นใหม่ที่สามารถสร้างกำไร ในขณะเดียวกันก็สามารถช่วยเหลือสังคมไปได้พร้อมๆ กัน นั่นคือสิ่งที่เรียกว่า Social Enterprise หรือ ธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้เป็นรูปธรรม ยกตัวอย่างง่ายๆ อยากให้พี่น้องลองนึกถึงโรงพยาบาลของชาวไทยจีนแห่งหนึ่ง ที่นั้นให้บริการทั้งผู้ป่วยที่รวยสุดจนกระทั่งจนสุด ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมคลอดเหมาจ่ายของที่นี่มีให้เลือกถึง 5 แพ็กเกจ ตั้งแต่คลอดธรรมดาห้องรวมไม่แอร์ จนกระทั่งคลอดผ่าพรีเมี่ยมห้อง VIP เดียวพิเศษ หลักการของที่นี่คือ “ผู้มาใช้บริการโรงพยาบาลมีส่วนได้ช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้” นั่นหมายถึง โรงพยาบาลจะจัดสรรกำไรที่ได้จากผู้ที่สามารถจ่ายแพง ไปช่วยเหลืออุดหนุนให้กับผู้ป่วยที่มีฐานะยากจน โดยที่ไม่กระทบต่อมาตรฐานการให้บริการทางการแพทย์ ผู้ป่วยที่จ่ายแพงจะได้รับการบริการที่พรีเมี่ยม ซึ่งอาจเกินความจำเป็นไปสำหรับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ พูดง่ายๆ คือ การนำเงินจากมือบน มาช่วยเหลือคนมือล่าง
เมื่อโรงพยาบาลเป็นไปในรูปแบบนี้ จะสามารถระดมทุนได้หลายๆ ทาง ความเป็นไปได้ที่โรงพยาบาลจะเกิดขึ้นก็มีสูง อีกทั้งตอบสนองกลุ่มลูกค้าได้ทุกกลุ่ม ทั้งคนรวยและคนจน มีมาตรฐานการแพทย์เทียบเท่ากับโรงพยาบาลเอกชนชั้นนำ ธุรกิจสามารถสร้างกำไรได้และเลี้ยงตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งพาเงินจากภายนอกตลอดเวลา นอกจากนั้นยังสามารถนำกำไรคืนสู่สังคมได้ในรูปแบบต่างๆ ทั้งกองทุนสาธารณกุศล การต่อยอดสร้างตึกเฉพาะสำหรับผู้ป่วยด้อยโอกาส การพัฒนาโรงพยาบาลสู่ความเป็นเลิศ ฯลฯ
หากวิเคราะห์ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของโรงพยาบาลอิสลาม จะพบว่ามีแต่ได้กับได้ สังคมมุสลิมจะมีโรงพยาบาลที่ให้บริการตามหลักการอิสลามที่ได้มาตรฐาน และค่าบริการไม่แพง ผู้บริจาคจะได้ผลบุญในรูปของศอดะเกาะห์ญารียะห์ ผู้ลงทุนจะได้ผลกำไรจากธุรกิจ (หรือถ้าทั้งบริจาค และลงหุ้น ก็ได้ทั้งดุนยา และอาคีเราะห์) เป็นการสร้างงานให้กับพนักงานได้มีงานทำในสิ่งแวดล้อมอิสลาม ผู้ป่วยมีฐานะมีโอกาสได้ทำบุญ และที่สำคัญที่สุดถือเป็น “ฟัรฎูกิฟายะห์” ที่วายิบสำหรับสังคมมุสลิมที่จะต้องรับผิดชอบร่วมกัน
ทั้งนี้ทั้งนั้น โรงพยาบาลนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคมมุสลิม ต้องเสียสละทั้งแรงกาย ความคิด และกำลังทรัพย์เพื่อให้โรงพยาบาลของเราเกิดขึ้นสักที ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ใหญ่ในสังคม และองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นศูนย์รวมของพี่น้องมุสลิม ได้แก่ มัสยิด สื่อมวลชน ทีวีมุสลิม มูลนิธิ/สมาคม ที่ต้องขอความร่วมมือในการประชาสัมพันธ์ และระดมเงินทุนบริจาค และที่สำคัญองค์กรแหล่งเงินมุสลิม เช่น สหกรณ์อิสลามต่างๆ หรือแม้กระทั่งธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ที่ควรจะมีส่วนในการเป็นเจ้าของโรงพยาบาลโดยการซื้อหุ้น
พี่น้องลองนึกดู มุสลิมบ้านเรามีประชากรไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน แต่ไม่มีโรงพยาบาลอิสลามสักแห่งในประเทศไทย ในขณะที่โรงพยาบาลคริสต์ โรงพยาบาลพุทธ โรงพยาบาลซิกห์ มีอยู่ให้เห็นเต็มบ้านเต็มเมือง มันเป็นไปได้อย่างไร เราอยู่กันได้อย่างไร แล้วพี่น้องจะตอบกับอัลลอฮ์ (ซบ.) อย่างไรที่เราไม่สามารถทำในสิ่งที่เรียกว่า “ฟัรฎูกิฟายะห์” ในขณะที่เราสามารถทำสิ่งที่จำเป็นต่อสังคมอย่างอื่นๆ ได้หมดแล้ว โรงเรียน มหาวิทยาลัย ธนาคาร โรงแรม ฯลฯ พี่น้องเราต้องทนกับการเสี่ยงต่ออาหารไม่ฮะลาลในโรงพยาบาลไปอีกนานเท่าไร เราต้องลำบากในการละหมาดในโรงพยาบาลขนาดไหน ภรรยาของเราต้องฝากครรภ์กับหมอที่เป็นผู้ชาย เราไม่สามารถเลือกได้เลยว่าจะรักษากับแพทย์ผู้ชายหรือผู้หญิง (ในขณะที่ประเทศมุสลิมทั้งในเอเชีย และตะวันออกกลางสามารถทำได้) เราต้องทนกับสภาพนี้ไปอีกนานแค่ไหน
ถึงเวลาแล้วพี่น้องที่เราต้องร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อให้โรงพยาบาลอิสลามแห่งแรกในประเทศไทยสามารถเกิดขึ้นให้จงได้ เราทำอย่างสุดความสามารถ และขอดุอาอ์ และความสำเร็จอยู่ที่พระองค์ อินชาอัลลอฮ์
โดย สมชาติ มิตรอารีย์
http://www.การเงินอิสลาม.com และ http://www.islamicfinancethai.com