สระว่ายน้ำ “ฮาลาล”
พี่น้องคงไม่ปฏิเสธนะครับ ว่าเวลาจะไปว่ายน้ำที่สระว่ายน้ำที่ไหนก็ตามในกรุงเทพมหานคร หรือต่างจังหวัดตามสปอร์ตคลับหรือตามโรงแรม เราจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจที่จะต้องเปิดเผยสัดส่วนกับเพศตรงข้ามถึงแม้ว่าจะใส่ชุดว่ายน้ำที่มิดชิดแล้วก็ตาม เพราะว่าสระว่ายน้ำบ้านเรายังเป็นสระที่ปะปนระหว่างชายหญิง อิสลามสอนให้เราปกปิดเอาเราะห์ คือ สุภาพบุรุษปกปิดตั้งแต่สะดือถึงหัวเข่า และสุภาพสตรีอนุญาตให้เปิดเผยใบหน้าและฝ่ามือ และยังสอนให้เรารู้ถึงขอบเขตระหว่างชายหญิง ซึ่งชุดว่ายน้ำในปัจจุบันสำหรับมุสลิมที่มีขายตามเว็บไซต์ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่อิมพอร์ตมาจากประเทศมาเลเซียหรือตะวันออกกลาง เป็นชุดที่มีความเหมาะสมในการที่จะใส่ว่ายน้ำตามสระต่างๆ เพราะปกปิดมิดชิดตามที่กล่าวข้างต้น แต่ปัญหาที่ยังมีอยู่คือ ยังไม่มีสระว่ายน้ำที่ให้ความเป็นส่วนตัวระหว่างสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี
ในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลีย และสหราชอาณาจักร มีสระว่ายน้ำสำหรับมุสลิม ซึ่งสามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ แบบแรกคือ สระที่มีการแยกอย่างชัดเจน 2 สระ หรือแม้กระทั่งการทำผนังกั้นระหว่าง 2 สระ แบบที่สอง คือ สระเดียวแต่มีการแบ่งเวลาสำหรับมุสลิมีนและมุสลิมะห์ อย่างไรก็ตามแบบที่สองจะมีข้อจำกัดสำหรับครอบครัวที่มาด้วยกันแต่ไม่สามารถลงว่ายน้ำในเวลาเดียวกันได้ โดยมีกฏระเบียบว่าต้องใส่ชุดว่ายน้ำที่มิดชิดตามถึงแม้จะเป็นการแบ่งแยกสระชายและหญิงแล้วก็ตาม ท่านสามารถค้นหาใน Google เกี่ยวกับสระว่ายน้ำมุสลิมโดยใช้คีย์เวิร์ดว่า “Muslim Swimming Pool” หรือ “Halal Swimming Pool” ในลอนดอนมีอยู่ที่หนึ่ง คือ St George’s leisure centre, Shadwell และที่ออสเตรเลีย คือ Greater Dandenong
อย่างไรก็ตามเป็นเรื่องที่น่าเสียใจที่เจ้าของประเทศชาวตะวันตกมักมีประเด็นเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยกล่าวว่าสระว่ายน้ำแยกชายหญิงเป็นการแสดงให้เห็นถึงความไม่เท่าเทียมกันในสังคม และมองว่าการที่ชาวต่างชาติที่เข้ามาอยู่อาศัยในประเทศออสเตรเลีย เช่น ชาวแอฟริกา หรือตะวันออกกลางควรจะให้การเคารพธรรมเนียมปฏิบัติกับเจ้าของประเทศ โชคดีที่ศาลแห่งเมืองวิคตอเรียตัดสินให้ชุมชนมุสลิมชนะในเรื่องนี้โดยให้เหตุผลว่าเป็นความจำเป็นด้านวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน
โดยส่วนตัวผมมองว่า ชาวตะวันตกในออสเตรเลียก็ไม่ใช่เจ้าของประเทศแต่เป็นอินเดียนแดงเผ่าอะบอริจิน ชาวตะวันตกเข้ามารุกรานและยึดดินแดงแห่งนี้ไปต่างหาก เพราะฉะนั้นจะชาวเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลางก็มีสิทธิอันชอบธรรมในการปฏิบัติตามธรรมเนียมปฏิบัติที่ตัวเองนับถือโดยไม่ก่อความเดือดร้อนให้ใคร
การใส่ชุดว่ายน้ำที่มิดชิดและแยกสระระหว่างชายหญิงก็ไม่ได้ทำให้ใครเดือดร้อน ดีเสียอีกที่การแบ่งแยกสระจะทำให้สังคมมีความสงบเนื่องจากไม่มีสิ่งยั่วยุทางเพศให้กวนใจจากการแต่งชุดว่ายวับๆ แวมๆ ยกเว้นคนบางประเภทที่ฝักใฝ่เรื่องแบบนี้และมักจะไปใช้บริการสระว่ายน้ำ แต่ไม่ได้ไปว่ายน้ำ ไปดูหรือไม่ก็ไปโชว์ ซึ่งเห็นอย่างมากมายในบ้านเรา ไม่เพียงแต่สระว่ายน้ำแต่ยังรวมไปถึงฟิตเนสด้วย
ในแง่ของธุรกิจ แน่นอนธุรกิจนี้มีโอกาสอย่างแน่นอน เนื่องจากยังไม่มีผู้ให้บริการสระว่ายน้ำแยกชายหญิงในประเทศไทย (เท่าที่ผมทราบ) ธุรกิจมีกลุ่มลูกค้าชัดเจน คือ กลุ่มมุสลิม และกลุ่มเป้าหมายรองก็ คือ บุคคลทั่วไป ซึ่งแน่นอนย่อมต้องมีลูกค้าที่มีความต้องการในเรื่องของความเป็นส่วนตัวและไม่ชอบการปะปน รูปแบบธุรกิจสำหรับธุรกิจใหม่ก็ไม่มีอะไรคือการก่อสร้างสระว่ายน้ำและสิ่งอำนวยความสะดวกที่แยกกัน สำหรับสระว่ายน้ำที่มีอยู่แล้วก็เพียงแค่ต่อเติมดัดแปลงให้มีความเป็นสัดส่วนมากขึ้น
สระว่ายน้ำ “ฮาลาล” จะมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้นถ้าหากเพิ่มในส่วนของฟิตเนสแยกชายหญิงไปด้วย ซึ่งจะทำให้ธุรกิจมีความครบวงจรและตอบสนองลูกค้าได้อย่างเต็มที่ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถเก็บค่าบริการสระว่ายน้ำได้สูงกว่าสระโดยทั่วไป ซึ่งลูกค้าน่าจะยินดีที่จะจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ตัวเองสามารถว่ายน้ำได้อย่างไม่ผิดหลักศาสนา (แต่แนะนำให้ตั้งราคาไม่สูงกว่ามาก และทำการตลาดโดยใช้ระบบสมาชิกรายปี)
การจัดกิจกรรมทางการตลาดก็ไม่ต้องมีอะไรมากมาย เพราะตัวธุรกิจมีความโดดเด่นอยู่แล้ว มีจุดขายชัดเจน อาจมีการตลาดบ้างนิดหน่อย เช่น การโฆษณาตามสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุ หรือทีวีมุสลิม การจัดโปรโมชั่นโดยใช้ระบบสมัครสมาชิกเป็นรายเดือน ปี เพื่อราคาที่ย่อมเยาว์ การจัดทำเว็บไซต์และการโปรโมทเว็บไซต์ให้ติดอันดับใน Search Engine และการจัดงานเปิดตัว Open House ให้ลูกค้าเยียมชมสระ และทดลองใช้บริการฟรี และพ่วงด้วยการทำข่าวให้เป็นที่กล่าวขานกัน
แต่สิ่งที่สำคัญมากที่สุดในการตลาดยุคนี้ คือ การตลาดปากต่อปาก (Word of Mouth) ผ่าน Social Media ที่จะได้รับการเชื่อถือมากกว่าการทำโฆษณา เนื่องจากเป็นการแชร์ประสบการณ์ของผู้ที่เคยใช้บริการมาก่อน ดังนั้นหากมีประสบการณ์ที่ดี ลูกค้าก็จะบอกต่อในทางที่ดี แต่ในทางกลับกันก็อาจจะด่าสาดเสียเทเสียกับธุรกิจหากพบเจอกับประสบการณ์แย่ๆ
โดยสรุปแล้ว ธุรกิจสระว่ายน้ำแยกชายหญิง เป็นธุรกิจที่น่าสนใจ ใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก (พอๆ กับการสร้างหอพัก อพาร์ทเมนท์ 4 ชั้น) มีจุดขายชัดเจน มีกลุ่มลูกค้ามากมาย และที่สำคัญการแข่งขันต่ำ เพราะยังไม่มี และแถมยังได้บุญด้วยเพราะเป็นการทำให้มุสลิมมีทางออกในเรื่องของการออกกำลังกายและถูกต้องตามหลักศาสนา ถือเป็นธุรกิจที่ตอบโจทย์ให้กับสังคมมุสลิม และน่าส่งเสริมเป็นอย่างยิ่ง
โดย สมชาติ มิตรอารีย์
http://www.การเงินอิสลาม.com และ http://www.islamicfinancethai.com