CSR กับ ซะกาต(Zakat)
CSR กับ ซะกาต CSR กับ ซะกาต CSR คือ อะไร? ท่านผู้อ่านคงเคยได้ยินตามข่าวหน้าหนังสือพิมพ์ หรือตามโทรทัศน์ ที่พูดฮิตติดปากกันมาก วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก CSR กัน CSR หรือ Corporate Social Responsibility แปลตรงตัวคือ ความรับผิดชอบของกิจการที่มีต่อสังคม เป็นเครื่องมือการตลาดอย่างหนึ่งในปัจจุบัน ที่ช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับกิจการ เช่น การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในสังคม การส่งเสริมด้านการศึกษา ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ฯลฯ ที่นอกเหนือไปจากการทำการตลาดโดยทั่วไป เช่น ผลิตภัณฑ์ ราคา ช่องทางการจัดจำหน่าย และการส่งเสริมการขาย (4Ps)
สมัยก่อนเจ้าของกิจการมองว่าการทำ CSR เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และฟุ่มเฟือย ถือเป็นค่าใช้จ่ายอย่างหนึ่งของกิจการ โดยมองว่ากิจการควรมุ่งเน้นการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพ ภายใต้ต้นทุนที่ต่ำที่สุด และขายให้ได้ราคาสูงที่สุด เจ้าของกิจการจึงมองว่าทุกอย่างคือต้นทุน โดยลืมมองไปว่าต้นทุนบางอย่างคือ “การลงทุน”
CSR ถือเป็นการลงทุนในรูปแบบหนึ่ง เพราะเมื่อเสียเงินไปเพื่อจัดกิจกรรม CSR ในวันนี้ สิ่งที่ได้กลับมาไม่ใช่วันนี้ในทันทีเหมือนการขายสินค้า แต่เหมือนการเพาะปลูกซึ่งต้องใช้เวลาในการเก็บเกี่ยวดอกผลในอนาคต สิ่งที่ได้กลับมาคือ ภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กร ความจงรักภักดีต่อแบรนด์และสินค้านั้น ความภาคภูมิใจของพนักงานในองค์กร และอื่นๆ อีกมากมาย ซึ่งผลตอบแทนที่ได้กลับมาจะเห็นว่าไม่ใช่ตัวเงิน แต่มีคุณค่าทางจิตใจมากกว่าตัวเงินมากมายมหาศาล ซึ่งท้ายที่สุดก็จะส่งผลให้กิจการสามารถขายสินค้าได้ และมีกำไรในที่สุด
ทุกวันนี้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมและทัศนคติที่เปลี่ยนไปมาก เช่น ใส่ใจในการรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การประหยัดพลังงานในรูปแบบต่างๆ การมีจิตอาสาที่เข้ามาช่วยเหลือสังคม ซึ่งคนเหล่านี้เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีความรักและเอาใจใส่สิ่งรอบตัวเองมากขึ้น จะเห็นได้จากการที่ใครก็ตามได้มีส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมในกิจกรรมช่วยเหลือสังคมก็จะได้รับการยกย่อง ยกตัวอย่างเช่น วัยรุ่นที่รวมกลุ่มกันเพื่อปั้น EM Ball หรือกลุ่มคนที่อาสาไปแจกของให้กับผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งคนเหล่านี้รวมตัวด้วยความบริสุทธิ์ใจ แต่อย่างไรก็ตามก็มักจะได้รับการสรรเสริญชื่นชมจากคนในสังคม ซึ่งก็ไม่แตกต่างกัน หากกิจการใดทำกิจกรรมในรูปแบบต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน พัฒนาสังคมที่ตัวเองอาศัยอยู่ ผลที่ได้ก็คือ สังคมได้รับการพัฒนาในทางที่ดี และกิจการก็จะได้รับการยกย่อง ชื่นชมจากคนในสังคม ซึ่งก็ได้กันทั้งสองฝ่าย ถึงแม้ว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรมก็ตาม แต่อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้นการทำ CSR คือการลงทุนที่ต้องอาศัยเวลา
สำหรับมุสลิมเรา ผมว่าเราทำ CSR มานานมาแล้วนะ เพราะสังคมของเราถือว่า “มุสลิมเป็นพี่น้องกัน เปรียบประดุจเรือนร่างเดียวกัน”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการช่วยเหลือสังคม หรือการเป็นมือบน เป็นเรื่องที่เราถูกปลูกฝังกันมานมนานแล้ว ก่อนฝรั่งมังค่าจะตั้งทฤษฎีแนวคิด CSR ขึ้นมาอีก พี่น้องคงไม่เถียงนะครับว่า เมื่อเวลาพี่น้องมุสลิมเราเดือดร้อนไม่ว่าจะเป็น ประสบภัยสงคราม ความไม่สงบในประเทศ แม้จะอยู่ในต่างประเทศ เราก็มีน้ำจิตน้ำใจในการละหมาดขอพรให้ หรือรวบรวมปัจจัยต่างๆ ส่งไปให้ เวลาที่พี่น้องเราประสบไฟไหม้ในชุมชนต่างๆ เราสามารถระดมเงินบริจาคเพื่อช่วยเหลือพี่น้องเราได้อย่างรวดเร็ว เมื่อเดือนรอมฎอนมาถึงพี่น้องของเราที่มีฐานะดีพร้อมที่จะร่วมรับเป็นเจ้าภาพเลี้ยงละศีลอดต่อพี่น้องของเราที่ยากลำบาก และอื่นๆ อีกมากมาย ที่เราได้ร่วมรับผิดชอบต่อสังคมมาช้านาน จากหลักการทั้งกุรอานและฮะดีสที่เป็นคำสอนของเรา
CSR ที่มุสลิมเราทำมานมนานแล้วอีกรูปแบบหนึ่งคือการทำซะกาต หรือการบริจาคทานภาคบังคับ โดยให้กับคน 8 กลุ่มในสังคม ได้แก่ คนขัดสน คนยากจน ผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัว คนดูแลซะกาต คนที่รับศาสนาใหม่ คนที่ทำงานในหนทางของอัลลอฮฺ ทาส และคนเดินทาง ซึ่งจุดมุ่งหมายของซะกาตก็เพื่อชำระทรัพย์สินที่หามาได้ให้สะอาด เพื่อให้สังคมได้มีความเกื้อหนุนช่วยเหลือกัน และให้เกิดความเท่าเทียมกันทั้งผู้ร่ำรวยและผู้ที่ยากจน ซึ่งจะเห็นได้ว่า มันคือการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมชัดๆๆ ซึ่งอิสลามเราสั่งใช้ให้ทำมากว่า 1,400 ปีแล้ว
ดังนั้นมุสลิมเรามีความล้ำหน้ากว่ามากนักในเรื่องนี้ เพียงแต่เราจะทำอย่างไรให้สามารถผนวกกับกลยุทธ์ในการตลาดเพื่อสินค้าและบริการของเราให้ได้ อาจมีประเด็นว่ามุสลิมไม่ควรป่าวประกาศเมื่อทำการบริจาค โดยส่งเสริมให้บริจาคมือขวาโดยที่มือซ้ายไม่รู้ (หมายถึง การปกปิดการบริจาคของตนเอง เพื่อให้เจตนาของการบริจาคเป็นไปด้วยความบริสุทธิ์ใจมากที่สุด ไม่มีการโอ้อวด หรือ การต้องการได้หน้า เข้ามาแอบแฝง) แต่กิจการน่าจะสามารถทำได้เพราะเป็นในนาม คณะบุคคล นิติบุคคล องค์กร มูลนิธิ ซึ่งไม่ใช่บุคคล การมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคมก็เพื่อส่งเสริมให้คนอื่นร่วมมามีส่วนช่วยเหลือสังคมด้วย ยกตัวอย่างเช่น บริษัท ฮาลาล จำกัด บริจาคสินค้าแบรนด์ของตนเองเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งสิ่งที่บริษัทจะได้กลับมาสิ่งแรก อินชาอัลลอฮ์ คือ ผลบุญจากพระองค์อัลลอฮ กล่าวคือ พนักงานทุกคนในบริษัทมีส่วนทำบุญ ประการที่สองคือ บริษัทได้รับการยอมรับชื่นชมจากผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือ และจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ของบริษัทในประการต่อมา สิ่งที่ผู้คนชื่นชมไม่ใช่ตัวบุคคลแต่เป็นองค์กรธุรกิจ อาจไม่มีผู้บริจาคคนใดได้รับการประกาศชื่อด้วยซ้ำไป และท้ายที่สุดบริษัท ฮาลาล จำกัดมีส่วนผลักดันให้บริษัทมุสลิมอื่นๆ อยากจะออกมามีส่วนช่วยเหลือสังคมเช่นกัน
ไม่แน่นะครับ ต่อไปเราอาจจะได้เห็นการทำ CSR ของบริษัทมุสลิมมากยิ่งขึ้น ซึ่งที่จริงก็เป็นสิ่งที่ทำอยู่แล้วในอีกรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง
โดย สมชาติ มิตรอารีย์
http://www.การเงินอิสลาม.com และ http://www.islamicfinancethai.com
เป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมอย่างยิ่งให้กระทำตามคำสั่งของอัลลอฮ ในประเทศมาเลย์มีนักวิจัยอิสลามคิดค้น Islamic CSR ที่มีรากฐานจากกรุอ่านและฮะดีษ เป็นหัวข้อป.เอกผมอยู่ในตอนนี้เช่นกัน
เยี่ยมมากเลยครับ