การลงทุนในกองทุนเปิดแบบอิสลาม
การลงทุนในกองทุนเปิดแบบอิสลาม
นอกจากกองทุนรวมประเภท Islamic LTF และ RMF ที่เคยนำเสนอไปแล้วนั้นในประเทศไทยยังมีกองทุนรวมเปิดแบบอิสลาม ที่สามารถซื้อขายโดยไม่มีเงื่อนไขมากนักแบบ LTF หรือ RMF แต่กองทุนประเภทนี้ไม่สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้เหมือนกับ Islamic LTF และ RMF เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่นิยมลงทุนหุ้นเป็นรายตัว จึงฝากให้ผู้จัดการกองทุนบริหารเงินลงทุนแทน
กองทุนเปิด (Opened – End Fund)
คือ กองทุนรวมชนิดที่อาจมีการกำหนดอายุโครงการหรือไม่ก็ได้ แต่ที่สำคัญก็คือ บลจ. สามารถที่จะขายหน่วยลงทุนเพิ่มเติมและต่อเนื่องได้ หลังจากที่มีการเสนอขายหน่วยลงทุนในครั้งแรกไปแล้ว รวมถึงสามารถรับซื้อคืนหน่วยลงทุนจากผู้ลงทุนเมื่อใดก็ได้ตลอดเวลา โดยในทางปฏิบัติ บลจ. มักจะมีการกำหนดระยะเวลาในการขาย ตลอดจนการรับซื้อคืนไว้ก่อนล่วงหน้า โดยอาจเปิดให้ทำการซื้อขายได้ทุกวันทำการ สัปดาห์ละครั้ง เดือนละครั้ง หรืออาจจะเป็นปีละ 2 ครั้ง ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ได้กำหนดขึ้น ผู้ลงทุนเองก็สามารถนำหน่วยลงทุนมาขายคืนให้กับ บลจ. หรือตัวแทนสนับสนุนการขาย กองทุนประเภทนี้จึงเป็นที่นิยมในปัจจุบัน
กองทุนเปิดจะลงทุนในกรอบของชะรีอะห์ และมีการตั้งที่ปรึกษาด้านศาสนาหรือชะรีอะห์มากำกับการลงทุน โดยมีกรอบการลงทุนดังนี้
ห้ามลงทุนที่เกี่ยวข้องกับริบา(Riba) หรือดอกเบี้ย กองทุนไม่สามารถที่จะซื้อหุ้นสามัญของธนาคารพาณิชย์ต่างๆ รวมถึงบริษัทเช่าซื้อต่างๆ ซึ่งมีรายได้หลักจากการเรียกเก็บดอกเบี้ยจากการกู้ยืม
ห้ามลงทุนที่เกี่ยวข้องกับความไม่แน่นอน(Gharar)กองทุนจึงไม่สามารถลงทุนหุ้นสามัญของบริษัทประกันภัยทั่วไป ที่จดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ได้ เพราะธุรกิจประกันภัยทั่วไป นั้นมีความไม่แน่นอนในเรื่องของการการเคลมประกัน ซึ่งเราไม่ทราบว่าจะเกิดความเจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุขึ้นเมื่อใด
ห้ามลงทุนที่เกี่ยวข้องกับการพนัน(Maisir)กองทุนจึงห้ามการลงทุนซื้อหุ้นสามัญของบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการพนัน เช่น บริษัทลอตเตอรี่ออนไลน์ บริษัทที่ให้บริการเครื่องเล่นเสี่ยงโชค เป็นต้น
ห้ามกองทุนลงทุนที่เกี่ยวข้องกับดำเนินธุรกิจขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ สุรา สิ่งมึนเมาธุรกิจที่มีผลิตภัณฑ์เกี่ยวข้องกับสุกรเลือด สิ่งที่น่ารังเกียจ หรือนะยิสธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับบันเทิง ประกอบด้วย คาสิโน การพนัน โรงภาพยนตร์ ดนตรี สื่อลามก และโรงแรม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยาสูบ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการผลิตหรือจำหน่ายอาวุธ
กองทุนเปิดในประเทศไทยที่เป็นแบบอิสลาม มีอยู่เพียง 1 กองทุนเปิดเท่านั้น คือ กองทุนเปิดเอ็มเอฟซี อิสลามิก ฟันด์ (MIF)
กองทุนเปิด MIF ซึ่งเป็นกองทุนรวมผสมแบบไม่กำหนดสัดส่วน โดยลงทุนในหุ้นตามหลักศาสนาอิสลาม และจ่ายเงินปันผลอย่างน้อยปีละครั้งในอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของกำไรสะสมหรือการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์สุทธิในงวดบัญชีที่จ่ายเงินปันผล
ดูรายละเอียดของกองทุนเปิดนี้ได้ที่
http://www.mfcfund.com/mfc/incfile/REPORT/fsp/th/mif.pdf