แบงค์ชั้นนำรุกตลาดการเงินอิสลาม
โมฮัมหมัด ซาลมาน ยูนิส กรรมการผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการประจำมาเลเซียของคูเวต ไฟแนนซ์ เฮาส์ ธนาคารอิสลามอันดับ 2 ของโลก รองจากอัล-ราจีแบงก์ บอกว่าบริการการเงินอิสลามกำลังเติบใหญ่จากอุตสาหกรรมเฉพาะกลายเป็นอุตสาหกรรมโลกอย่างแท้จริง และใน 3-5 ปีหน้า จะได้เห็นธนาคารอิสลามในออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น และส่วนอื่นๆ ของโลก
แบงก์ชั้นนำของโลก ทั้งซิตี้กรุ๊ป(CitiGroup) เอชเอสบีซี(HSBC) และดอยช์แบงก์(Deutsche Bank) ตลอดจนศูนย์กลางการเงินอย่างลอนดอน โตเกียว และฮ่องกง แห่ลงสนามการธนาคารอิสลาม นอกจากสินเชื่ออิสลาม(Islamic Financing) แล้ว ยังมีพันธบัตรอิสลามหรือศุกูก (Sukuk) บัตรเครดิตอิสลาม(Islamic Credit Card) และกระทั่งตราสารอนุพันธ์อิสลาม(Islamic Derivatives) ปัจจุบันสินเชื่ออิสลาม(Islamic Financing๗ และพันธบัตรอิสลามหรือศุกูก(Sukuk) ที่ยึดคัมภีร์กุรอานเป็นบรรทัดฐาน มีให้บริการในสหรัฐฯ ขณะที่อังกฤษ ญี่ปุ่นและไทยกำลังชั่งใจออกหุ้นกู้อิสลามเช่นกัน
ผลลัพธ์คือ มีความต้องการบริการการเงินอิสลาม(Islamic Financial Service) มากขึ้น ปี 2006 เนชันแนล คอมเมอร์เชียล แบงก์ ธนาคารใหญ่สุดของซาอุดีอาระเบีย ยกเครื่องธุรกิจลูกค้ารายย่อยเพื่อให้สอดคล้องกับชาริอะห์หรือกฏหมายอิสลาม ปี 2006 ตูนีเซียและโมรอกโกอนุญาตให้ธนาคารอิสลามแห่งแรกเปิดดำเนินการและแม้ธนาคารอิสลามยักษ์ใหญ่กระจุกตัวอยู่ในประเทศมั่งคั่งในอ่าวเปอร์เซีย แต่ตลาดที่ดึงดูดที่สุดกลับเป็นตุรกรี แอฟริกาเหนือ ชาติมุสลิมในยุโรป และอินโดนีเซีย ประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก
ในทางกลับกันมาเลเซียเป็นประเทศที่คนส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิมและเศรษฐกิจโตเร็วโดยมีภาคส่งออกเป็นตัวขับเคลื่อนนั้น กลายเป็นศูนย์กลางการพัฒนาระบบการเงินอิสลาม ในแดนเสือเหลือง แม้แต่คนที่ไม่ใช่ชาวมุสลิมยังแสวงหาโอกาสจากการเติบโตของผลิตภัณฑ์การเงินอิสลามนานาประเภท
ระบบการเงินอิสลาม(Islamic Financial System) ยังหลีกเลี่ยงแนวทางปฏิบัติที่เป็นข้อห้ามภายใต้คัมภีร์กุรอาน เช่น ธนาคารอิสลามไม่สามารถรับหรือจัดหาเงินทุนสำหรับสิ่งที่เกี่ยวข้องกับของมึนเมา การพนัน ภาพลามก บุหรี่ อาวุธ หรือสุกร รวมทั้งห้ามคิดดอกเบี้ย
ข้อจำกัดเหล่านี้เป็นสิ่งที่นักลงทุนที่มีจิตสำนึกต่อสังคมรับได้ ไม่ว่าจะเป็นมุสลิมหรือไม่ก็ตามที่สำคัญข้อห้ามในการคิดดอกเบี้ยยังทำให้ระบบการเงินอิสลามหยั่งรากแข็งแรงยิ่งขึ้ว่าที่จริง แบงก์อิสลามทำหน้าที่เหมือนบริษัทลงทุนภาคเอกชนมากกว่าธนาคารปกติ โดยผู้สนับสนุนชี้ว่า การแบ่งปันความเสี่ยงช่วยลดการกระทำนอกลู่นอกทางที่นำไปสู่วิกฤตซับไพรม์(Sub prime Crisis)ในสหรัฐฯ ในทางตรงข้าม การผลักภาระให้ลูกค้าที่มีหนี้สิน หรือลงทุนในบริษัทที่มีหนี้รุงรัง ขัดแย้งอย่างสิ้นเชิงกับแนวทางอิสลาม
นอกจากนั้นผลิตภัณฑ์ทั้งหมดของสถาบันการเงินอิสลามจำเป็นต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการนักวิชาการชาริอะห์ แต่ปัญหาคือการขาดแคลนนักวิชาการเหล่านี้ โดยเฉพาะผู้ที่เข้าใจเรื่องการเงินด้วย ดังนั้น นักวิชาการชาริอะห์หลายคนจึงเป็นสมาชิกบอร์ดของธนาคารหลายแห่ง มีรายได้หลักแสนดอลลาร์
ขณะที่อังกฤษและญี่ปุ่นต่างหมายมั่นปั้นมือออกศุกูก(Sukuk) มาชิงส่วนแบ่งตลาด และเดือนกรกฎาคม 2007 อีสต์ คาเมรอน พาร์ตเนอร์ส บริษัทน้ำมันในเทกซัส เพิ่งออกพันธบัตรอิสลามหรือศุกูก(Sukuk) อเมริกันรุ่นแรก และระดมทุนไปได้ 165.7 ล้านดอลลาร์ ศรัทธาไม่ใช่ปัจจัยเพียงอย่างเดียวที่ขับเคลื่อนตลาดนี้ ตัวอย่างเช่นบริษัทในเครือในมาเลเซียของคูเวต ไฟแนนซ์ เฮาส์ขณะนี้ มีผู้ฝากเงิน 40% และผู้ขอสินเชื่อ 60% ที่ไม่ใช่ชาวมุสลิม
ที่มา ประชาชาติธุรกิจ ผู้จัดการ