บทบาทของซะกาตทรัพย์สินในการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจในชุมชน
อิสลามได้กำหนดให้มีการจ่ายซะกาตทรัพย์สินหรือ ซะกาต อัล มาล เพื่อใช้เป็นปัจจัยหลักในการระดมทุนทรัพย์ซึ่งจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการและพัฒนาสังคมมุสลิมต่อไป เช่นเดียวกันกับทุกประเทศในโลกนี้ก็มีการจัดการเก็บภาษีเพื่อนำมาใช้เป็นงบประมาณในการพัฒนาประเทศ
จำพวกบุคคลที่มีสิทธิได้รับซะกาตนั้นมีทั้งหมดแปดประเภทดังนี้ 1. บุคคลยากจน 2. บุคคลที่ขัดสน 3. บุคคลที่มีหนี้สินล้นพ้นตัว 4. บุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่เก็บซะกาต 5. บุคคลที่อยู่ในหนทางของอัลลอฮฺ 6. บุคคลที่เป็นทาส 7. บุคคลที่สนใจในศาสนาอิสลาม (มุอัลลัฟ) 8. ผู้เดินทาง (ซึ่งเขาไม่มีทรัพย์ที่จะทำให้เขากลับไปยังภูมิลำเนาของเขาเองได้) ซึ่งในเรื่องนี้อัลลอฮฺได้มีบัญญัติไว้ในอัลกุรอานว่า
ความว่า “แท้จริง การทำทาน(ซะกาต)ทั้งหลายนั้น ให้จ่ายสำหรับบรรดาผู้ที่ยากจน และบรรดาผู้ที่ขัดสน และบรรดาเจ้าหน้าที่ในการรวบรวมซะกาต และบรรดาผู้ที่หัวใจสนใจต่อการรับอิสลาม(มุอัลลัฟ) และในการไถ่ทาส และบรรดาผู้ที่หนี้สินล้นพ้นตัว และในทางของอัลลอฮฺ และผู้ที่หมดตัวในระหว่างเดินทาง ทั้งนี้เป็นบัญญัติอันจำเป็นซึ่งมาจากอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺนั้นเป็นผู้ทรงรอบรู้ ผู้ทรงปรีชาญาณ” (อัต-เตาบะฮฺ 60)
ถ้าดูจากสัดส่วนที่จำแนกบุคคลที่มีสิทธิได้รับซะกาตตามที่ได้ระบุในอัลกรุอ่านนั้น เน้นแก้ปัญหาที่เกี่ยวกับความยากจนและความลำบากในการดำรงชีพเป็นหลักถึง 50 %(4 จำพวก) ถัดมาเป็นการสนับสนุนการปกป้อง ส่งเสริมในหนทางของศาสนาและสนับสนุนการนับถืออิสลาม 25%(2 จำพวก)
จะเห็นได้ว่าอิสลามมีความต้องการที่จะขจัดความยากจนและขัดสนในสังคมให้น้อยลง การแจกจ่ายทรัพย์สินเป็นการกระจายรายได้ และมอบโอกาสให้แก่ผู้ด้อยโอกาสกว่า ให้ได้มีโอกาสในการได้รับความช่วยเหลือและมีปัจจัยยังชีพ ผู้รับซะกาตเมื่อได้รับการช่วยเหลือจากผู้ให้ซะกาตแล้ว พวกเขาเหล่านั้นก็จะได้มีโอกาสที่ผู้รับซะกาตจะสามารถหาทรัพย์สินเพื่อให้ได้กลายเป็นผู้จ่ายซะกาตได้ในอนาคต