Gharar ความไม่โปรงใส ข้อห้ามในการเงินอิสลาม
เรื่องฆอรอรฺ (Gharar) หรือ คือ ความไม่โปรงใส ความคลุมเครือ Gharar ถือเป็นสิ่งต้องห้ามตามหลักชะรีอะฮ์ในการดำเนินธุรกรรม โดยระบุไว้ในอัลกรุอาน ว่า
“และอย่าให้หัวหน้าพวกล่อลวง (ชัยฎอน) มาหลอกลวงพวกเจ้า เกี่ยวกับอัลลอฮ์ (ซ.บ.)เป็นอันขาด” (ลุกมาน 33)
และมีรายงานหะดีษจากท่านอบูฮุร็อยเราะฮ์ ความว่า “ท่านรอซูรุลลอฮ์ได้ห้ามการค้าขายที่ไม่มีความแน่นอน ไม่โปรงใส” (บันทึกโดยติรมิซีย์)
ฆอรอรฺ (Gharar) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด
- Minor Gharar (غرر يسير Gharar Yasir) คือ ความไม่แน่นอนเล็กน้อย ซึ่งเป็น
ความเสี่ยงที่สามารถยอมรับได้ตามหลักชะรีอะฮ์ และมีการชดเชยหรือการปิดความเสี่ยงได้ระดับหนึ่ง เช่น
1.1 การซื้อขายสินค้าผ่านอินเตอร์เน็ต โดยที่ไม่เห็นสินค้ากับบริษัท หรือบุคคลที่สามารถติดตามและรับประกันสินค้าหากสินค้ามีการชำรุดหรือบกพร่อง สามารถเปลี่ยนเป็นสินค้าที่ปกติได้ หากไม่สามารถติดตามหรือไม่มีการรับประกันสินค้าจะถือว่าเป็นความไม่แน่นอนที่ไม่อนุญาตให้ซื้อขายได้ตามหลักชะรีอะฮ์ เนื่องจากจะเกิดความไม่ยุติธรรมและการโต้แย้งเกิดขึ้น
1.2 การซื้อขายแบบซาลาม(Salam) ที่มีการส่งมอบในอนาคตโดยการกำหนดและระบุคุณสมบัติหรือคุณลักษณะชัดเจน เพื่อให้สินค้านั้นเป็นไปตามที่ตกลง จะเห็นได้ว่าความไม่แน่นอนนั้นมีอยู่ แต่มีการกำหนดเงื่อนไขที่ชัดเจนไว้ เพื่อชดเชยหรือปิดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น
1.3 การลงทุนในธุรกิจโดยมีการจัดทำแผนธุรกิจและระบบงาน
1.4 การลงทุนในหุ้นโดยมีการวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้น(Fundamental Analysis)และ/หรือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค(Technical Analysis) เป็นต้น
- Major Gharar( غررفاحش gharar fahish) คือ ความคลุมเครือไม่โปรงใส ความไม่แน่นอน ความผันผวนที่มีมาก ทำให้ไม่สามารถยอมรับและเป็นสิ่งต้องห้าม(ฮารอม) ตามหลักชะรีอะฮ์ เช่น การซื้อขายที่ไม่ระบุราคา การซื้อขายที่ไม่ระบุคุณลักษณะของสินค้า การซื้อขายที่ไม่มีการระบุจำนวน การซื้อขายที่ผู้ขายไม่ได้ครอบครองสินค้า การซื้อขายไม่มีการกำหนดเวลาจัดส่ง การลงทุนซึ่งปราศจากข้อมูล เป็นต้น อันจะเป็นสาเหตุให้เกิดความไม่ยุติธรรมและข้อโต้แย้ง ตัวอย่างเช่น
2.1 การซื้อขายปลาที่อยู่ในทะเล หรือในสระน้ำ ซึ่งไม่ทราบจำนวนหรือยังไม่ได้จับปลามาครอบครอง
2.2 การซื้อขายลูกวัวในท้องแม่วัวที่ยังไม่กำเนิด ซึ่งอาจจะเกิดความไม่แน่นอนหากลูกวัวนั้นเสียชีวิตหรือพิการ
2.3 การซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการรับประกัน หรือมีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับผู้ขาย ดังที่กล่าวมาข้างต้น
2.4 การทำธุรกิจแบบไม่มีแผนงานหรือแผนการ นำไปสู่การขาดทุนและล้มละลาย
2.5 การลงทุนในหุ้นแบบขาดการวิเคราะห์พื้นฐานของหุ้น (Fundamental Analysis) และ/หรือ การวิเคราะห์ทางเทคนิค (Technical Analysis)
